Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
ทิศทาง Corporate Governance หลังโควิด-19

ท่านคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “หลังจากเกิดโควิด-19 โลกเราจะไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป” คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเลย เนื่องจากเราต่างก้าวเข้าสู่ภาวะ “ชีวิตวิถีถัดไป (Next normal)” ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเปิดรับเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขอนามัย และผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในภาคการดำเนินธุรกิจต่างๆ ก็ต้องมีการปรับตัวอย่างมากเช่นกัน องค์กรจำเป็นต้องรับมือกับการแข่งขันท่ามกลางสภาวะโลกหลังโควิด-19 การปรับตัวของธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่ากรอบแนวปฏิบัติของการกำกับดูแลกิจการในปัจจุบันยังเหมาะสม และสามารถใช้ในบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อยู่หรือไม่

The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) เป็นองค์กรที่เริ่มจัดทำ “หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นที่ยอมรับและถูกนำไปใช้ในการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับนานาชาติ และถือเป็นมาตรฐานสำหรับภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก OECD ได้มีการทบทวนหลักการกำกับดูแลกิจการครั้งแรกเมื่อปี 2558 โดยภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายในปี 2565 ทาง OECD Corporate Governance Committee ร่วมกับหน่วยงานกำกับฯ และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 50 ประเทศ จึงร่วมกันทบทวนและปรับปรุง G20/OECD Principles of Corporate Governance ขึ้นอีกครั้ง โดยคาดว่าจะเผยแพร่หลักการฯ ฉบับสมบูรณ์ได้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 นี้


ประเด็นสำคัญที่มีการทบทวนใน G20/OECD มี 10 ประเด็นได้แก่

  • Corporate ownership trends and increased concentration
  • The management of environmental, social and governance (ESG) risks
  • The role of institutional investors and stewardship
  • The growth of new digital technologies and emerging opportunities and risks
  • Crisis and risk management
  • Excessive risk taking in the non-financial corporate sector
  • The role and rights of debtholders in corporate governance
  • Executive remuneration
  • The role of board committees
  • Diversity on boards and in senior management


IOD ขอหยิบยกบางประเด็นข้างต้น ที่เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนไทยควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มผ่อนคลายแล้ว เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการปรับกระบวนการทำงานให้สอดรับกับการเติบโตแบบ “ยั่งยืน” มากขึ้น ได้แก่ประเด็นดังต่อไปนี้


1. Climate Change and corporate governance

โรคระบาดที่เกิดขึ้นส่งเสริมให้เกิดกระแสความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (Environmental, Social, Governance: ESG) มากขึ้น จากผลสำรวจของ OECD พบว่านักลงทุนให้ความสนใจเรื่องสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงด้าน ESG เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนกับบริษัทมากขึ้น ผู้ถือหุ้นมีการแสดงความคิดเห็นมากขึ้นในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและ ESG เช่น เรื่องการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัท หรือการคัดเลือกกรรมการบริษัทที่สามารถผลักดันองค์กรเพื่อให้บรรลุกลยุทธ์เรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ รวมไปจนถึงการร้องเรียน หรือฟ้องร้องบริษัทหากมีแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงด้าน ESG จึงเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

นอกเหนือจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทเองแล้ว บริษัทควรสนับสนุนให้พันธมิตรของบริษัทดำเนินธุรกิจโดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ หรือพิจารณาการจัดซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) เข้าไว้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัทก็จะเป็นการยกระดับการกำกับดูแลกิจการด้าน ESG ขึ้นได้อีกด้วย

 

2. Digitalization and corporate governance

สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้องค์กรปรับกระบวนการทำงานไปเป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น และเป็นตัวเร่งให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การยอมรับ และความเคยชินการใช้เทคโนโลยีภายในช่วงเวลาอันสั้น สิ่งที่เห็นเป็นลำดับแรกๆ ได้แก่ การทำงานของพนักงานในรูปแบบการทำงานทางไกล (remote working) การประชุมคณะกรรมการบริษัท และการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นที่ปรับเป็นรูปแบบ Online หรือ Virtual มากขึ้น โดยคาดว่าเทคโนโลยี VDO Conference จะกลายเป็นภาวะปกติใหม่ของการประชุม เนื่องจากมีความสะดวก และรองรับผู้เข้าประชุมได้เป็นจำนวนมาก
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนับเป็นความท้าทายที่มาพร้อมกับโอกาสที่ดีของธุรกิจ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บริษัทต้องมีความชัดเจนในการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และควรตรวจสอบกับหน่วยงานกำกับดูแลในเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แน่ชัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง

 

3. The role of board committee in corporate governance

ในปัจจุบันบริษัทมีการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยเฉพาะทางมากขึ้น วัตถุประสงค์คือเพื่อช่วยบริหารจัดการบริษัทภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการบรรษัทภิบาล คณะกรรมการความยั่งยืน หรือคณะกรรมการกำกับดูแลด้านเทคโนโลยี เป็นต้น เนื่องจากคณะกรรมการชุดย่อยเหล่านี้มีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้านที่ลึกกว่า และเป็นการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านต่างๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้บริษัทจำเป็นต้องแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ และความจำเป็นของธุรกิจ เนื่องจากอาจเกิดปัญหาการทำงานแบบแยกส่วน (Silo) กันจนเกินไป หรืออาจเป็นการเพิ่มต้นทุนที่ไม่จำเป็นให้กับบริษัทได้

 

4. Diversity on boards and in senior management

โครงสร้างคณะกรรมการที่มีประสิทธิภาพ ควรประกอบด้วยส่วนผสมของกรรมการที่มีความหลากหลาย เช่น ความหลากหลายทางด้านทักษะวิชาชีพ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพศ อายุ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ประสบการณ์ทำงาน เป็นต้น แนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลขององค์กรในยุโรปและเอเชียบางประเทศ มีการกำหนดเรื่องโควตากรรมการเพศหญิงในคณะกรรมการไว้อย่างชัดเจนด้วย เป็นการส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารองค์กรมากขึ้น ในส่วนของประเทศไทยจากฐานข้อมูลบรรษัทภิบาลเพื่องานวิจัยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ณ สิ้นปี 2563 ของบริษัทจดทะเบียน 87.3% จากทั้งหมด ได้แต่งตั้งผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการของบริษัท ซึ่งสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 79.4% ผนวกกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ผลักดันในเรื่องดังกล่าว โดยกำหนดเป็นเป้าหมายปี 2565 ที่จะสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนไทยว่า 30% ของบริษัทจดทะเบียนไทยมีกรรมการหญิงอย่างน้อย 30% ของจำนวนคณะกรรมการทั้งคณะ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้สัดส่วนกรรมการเพศหญิงในคณะกรรมการเพิ่มขึ้นในอนาคต

การทำงานในโลกหลังโควิด-19 เป็นการทำงานที่มีข้อจำกัดต่างๆ มากขึ้น และต้องแข่งกับเวลา วัฒนธรรมองค์กรบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นบริษัทควรสนับสนุน ยอมรับ ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมและความหลากหลายในด้านต่างๆ และควรปรับใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการคัดเลือกตัวแทนที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทต่อไปด้วย

โดยสรุปแล้วนั้น การกำกับดูแลกิจการที่ดียังคงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการปรับองค์กรเพื่อรองรับ “โลกวิถีถัดไป” และการเติบโตแบบ “ยั่งยืน” โดย OECD มีความเชื่อมั่นว่าองค์กรที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี จะสามารถเข้าสู่ตลาดทุนได้ง่ายกว่า มีผลประกอบการทางการเงินที่มั่นคง และมีศักยภาพในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สนับสนุนธุรกิจสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในระยะยาวได้ ท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทบทวนหลักการ G20/OECD ได้ทาง Review of the G20/OECD Principles of Corporate Governance นอกจากนี้ IOD ยังได้จัดทำข้อมูลการเปรียบเทียบเกณฑ์ Corporate Governance Report (CGR) 2566 vs 2564 ซึ่งครอบคลุมประเด็นทั้ง 4 ข้อด้านบนไว้ด้วย โดยท่านสามารถศึกษาข้อมูลได้ที่ ข้อมูลการเปรียบเทียบเกณฑ์ CGR 2566 vs CGR 2564

 

       

อรกานต์ จึงธีรพานิช
Assistant Manager – R&D Management & Advocacy
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand