Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
From the IOD Experience: Interesting Findings on ESG Practices



ESG ได้กลายเป็นคำที่คุ้นหูของใครหลายๆ คน และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการผลักดันจากหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ โดยมุ่งหวังที่อยากจะให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วน ทั้งในมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากประสบการณ์ของ IOD ที่ได้มีการจัดอบรม จัดงานสัมมนา จัดทำการประเมินผลบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการจัดทำรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่าหลายบริษัทได้มีวิวัฒนาการในเรื่องนี้อย่างก้าวกระโดด โดยส่วนสำคัญนั้นมาจากความร่วมมือและการทำหน้าที่กำกับดูแลโดยตรงจากคณะกรรมการและผู้นำองค์กรที่ได้ใส่ใจและเห็นเรื่อง ESG เป็นประโยชน์ต่อบริษัทและผู้มีส่วนได้เสียองค์กรในระยะยาว


อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ผ่านการดำเนินงานของ IOD ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำให้มองเห็นประเด็นที่น่าสนใจบางอย่างทางด้าน ESG ที่บางบริษัทได้ดำเนินการ แต่กลับเป็นแนวปฏิบัติที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก บทความนี้จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังถึง-3 แนวปฏิบัติทางด้าน ESG ที่อาจจะสามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรของท่านได้

 

เรื่องแรก: ESG Advisory Committee: Alternative to gaining ESG expertise

หนึ่งในเรื่องแรกๆ ที่บริษัทต่างๆ มักจะเริ่มดำเนินการคือ การสรรหากรรมการที่มีประสบการณ์ทางด้าน ESG เข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ เพื่อที่จะให้คำแนะนำหรือความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายจัดการได้ ตลอดจนเป็นการสะท้อนว่าบริษัทได้ให้ความสำคัญต่อเรื่อง ESG ซึ่งถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะสามารถสรรหากรรมการที่มีคุณสมบัติในลักษณะนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความเจาะจงและเฉพาะด้านมาก ซึ่งต้องอาศัยบุคคลที่มีความรู้เชิงเทคนิคจึงจะสามารถเข้าใจธุรกิจได้ นอกจากนี้ยังมีบางบริษัทที่มีประเด็นทางด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องหลากหลายด้าน เกินกว่าที่จะสามารถหาบุคคลเพียงคนเดียวหรือไม่กี่คนมาเป็นกรรมการและเข้าใจในทุกเรื่องได้ ด้วยเหตุนี้ จึงพบว่าในบางครั้ง บริษัทในลักษณะนี้มักมีการใช้วิธีอื่นๆ มาช่วยสนับสนุนบริษัท ได้แก่ การแต่งตั้งคณะ Advisory Committee ที่ประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ไม่จำเป็นต้องเฉพาะเจาะจงด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อมาให้ความเห็นในเรื่องต่างๆ และเป็นที่ปรึกษาให้กับกรรมการเกี่ยวกับแนวปฏิบัติทางด้าน ESG ซึ่งจะสะท้อนมุมมองที่รอบด้าน และไม่เป็นการจำเพาะหรือลงในรายละเอียดเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป อีกทั้งยังตอบโจทย์สำหรับบริษัทที่มีประเด็นทางด้าน ESG หลายๆ เรื่องอีกด้วย การมี Advisory Committee นี้เป็นแนวปฏิบัติที่ใช้กันแพร่หลายในต่างประเทศ โดยเฉพาะกับบริษัทที่มีประเด็นเรื่อง ESG ที่ค่อนข้างมาก ซึ่งทำหน้าที่เหมือนผู้ช่วยคณะกรรมการในการกลั่นกรองประเด็นและกลยุทธ์ด้าน ESG ซึ่งมักจะประกอบไปด้วย Sustainability Experts ด้านต่างๆ และตัวแทนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น


เรื่องที่สอง: Stakeholders as reviewers, not input providers

จากการที่ IOD ได้เคยสัมภาษณ์หลากหลายบริษัทจดทะเบียนถึงแนวทางการกำหนดประเด็น ESG หรือประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญของบริษัท แหล่งข้อมูลสำคัญที่มักใช้ประกอบการพิจารณาคือ มุมมองของฝ่ายจัดการในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินกิจการ มาตรฐานสากลต่างๆ ที่ระบุถึงประเด็น ESG ที่สำคัญ ตลอดจนมุมมองจากผู้มีส่วนได้เสียจากองค์กร ผ่านการสอบถามผ่านช่องทางต่างๆ อย่างไรก็ตาม มีแนวปฏิบัติของบางบริษัทที่น่าสนใจคือ บางบริษัทนั้นเลือกที่จะกำหนดประเด็น ESG หรือประเด็นความยั่งยืนผ่านมุมมองของฝ่ายจัดการเป็นสำคัญก่อน เพราะเชื่อว่า ผู้ปฏิบัติการจะเข้าใจถึงประเด็นความยั่งยืนขององค์กรได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ระบุประเด็นจากมุมมองของฝ่ายจัดการแล้ว จะมีการจัดหมวดหมู่ ประเมินผลกระทบทั้งที่มีต่อองค์กร และผู้มีส่วนได้เสียเพื่อจัดลำดับความสำคัญ แล้วจึงนำผลประเมินและการจัดลำดับความสำคัญที่ได้นั้นไปตรวจสอบกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรอีกที ซึ่งขั้นตอนและวิธีการนี้ จะช่วยร่นระยะเวลาและทำให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถให้ความเห็นได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีกรอบและหลักการมาอธิบายเพื่อเพิ่มความเข้าใจ ผู้มีส่วนได้เสียจึงสามารถเสริมหรือต่อยอดจากหลักการเหล่านั้นได้ ต่างจากการสอบถามประเด็น ESG แบบเปิดเผยโดยตรงจากผู้มีส่วนได้เสียแต่แรกเริ่ม ซึ่งจะทำให้ผลตอบรับที่ได้นั้นมีความหลากหลายและอาจมีส่วนคำแนะนำที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจได้


เรื่องที่สาม: From Sustainable Production to Sustainable consumption

หากไปศึกษาถึงแนวทางจัดการประเด็น ESG หรือกลยุทธ์ความยั่งยืนขององค์กรต่างๆ ผ่านรายงานที่บริษัทได้เปิดเผย จะพบว่าส่วนใหญ่มักจะเป็นแนวทางการจัดการที่เน้นถึงการปรับเปลี่ยนทิศทางกลยุทธ์หรือแนวทางการดำเนินงานของบริษัทที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่ได้คำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ เช่น การพิจารณาปรับกระบวนการผลิตที่สร้าง cost efficiency และลดการปล่อยของเสีย การใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเกิด Energy saving ตลอดจนการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืนให้กับบริษัท ซึ่งถือเป็นการจัดการประเด็นความยั่งยืนในมุมของผู้ผลิตหรือบริษัทเป็นสำคัญ หรือที่เรียกว่า Sustainability from the supply side อย่างไรก็ตาม พบว่ามีบางบริษัทที่สามารถปรับกลยุทธ์ความยั่งยืนหรือปรับกระบวนการดำเนินงานที่ไปส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้เห็นความสำคัญและคำนึงเรื่องความยั่งยืนได้ หรือที่เรียกว่า Sustainability from the demand side เช่น การส่งเสริมให้ผู้ซื้อสินค้าและบริการสามารถนำของเก่ามารีไซเคิลสร้างสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ หรือการที่บริษัทผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรับผิดชอบในการดื่ม (Responsible drinking) เช่น เบียร์แอลกอฮอล์ 0% เป็นต้น


ด้วยเหตุนี้ คงเป็นเรื่องที่ดีหากบริษัทสามารถพัฒนากลยุทธ์หรือแนวทางจัดการประเด็นความยั่งยืนที่มองทั้งสองด้านไปพร้อมๆ กัน และเริ่มปรับมุมมองจากการมุ่งเน้นที่ Sustainable Production ไปสู่ Sustainable Consumption ที่มากขึ้น


จากประเด็นทั้งสามเรื่องข้างต้น บางองค์กรอาจมองเป็นเรื่องปกติ เพราะได้มีการดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว แต่สำหรับองค์กรที่อาจจะยังไม่คุ้นกับแนวทางข้างต้น อาจลองพิจารณาและหารือถึงความเหมาะสมในการนำมาปรับใช้ และถึงแม้ว่าแนวทางข้างต้นอาจจะไม่เหมาะสมกับบางองค์กร แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่องค์กรจะได้ลองเริ่มหารือหรือมีมุมมองเรื่องความยั่งยืนในแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้น


ในปี 2023 นี้ IOD มีแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในเรื่องของ ESG กับความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะผ่านทางหลักสูตรสำหรับกรรมการ การจัดงานสัมมนาผ่านกลุ่ม Community of Practices โดยเฉพาะทางด้าน Sustainability ตลอดจนการประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ครอบคลุมทางด้าน ESG มากขึ้น อยากให้กรรมการทุกท่านได้ติดตาม เพื่อที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งและแรงผลักดันสำคัญที่จะนำพาองค์กรไทยไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ธนกร พรรัตนานุกูล
ผู้อำนวยการ
สถาบันกรรมการบริษัทไทย

 

 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand