Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
Director Need To Know บริษัทซื้อหุ้นตัวเอง Treasury Stock ตอนที่ 2

 Director Need To Know บริษัทซื้อหุ้นตัวเอง Treasury Stock ตอนที่ 

“หุ้นซื้อคืน” ที่บริษัทมหาชนซื้อจาก “ผู้ถือหุ้น” ในตลาดหลักทรัพย์ใช้ “แหล่งเงิน” จากไหน ? และมี “เงื่อนไขตามกฎหมาย” เกี่ยวกับแหล่งเงินอย่างไร ?

บทความตอน 2 ต่อเนื่องจากบทความตอนแรกเรื่อง “หุ้นบริษัทซื้อคืน” (Treasury Stock) นี้มุ่งหวังให้ “กรรมการบริษัทมหาชน” มีแนวทางสำหรับ “ตั้งคำถาม” ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ

 
แหล่งเงินที่ใช้ “ซื้อหุ้นบริษัทตัวเอง”

เงื่อนไขทางกฎหมายกำหนดให้เงินที่ใช้ “ซื้อหุ้นตัวเอง”​ ต้องเป็น “กำไรสะสม” (Retain Earning) ของ “งบการเงินเฉพาะกิจการ” (งบเดี่ยว) เท่านั้นไม่ใช่ “งบการเงินรวม”​ (Consolidated Financial Statements)ประเด็นนี้น่าจะมีเหตุผลเบื้องหลังของกฎหมาย คือ “งบเดี่ยว” เป็นงบการเงินที่ใช้ตาม “กฎหมาย” (Legal Treatment) และ “ภาษี” (Tax Treatment) ไม่ใช่ “บัญชี” (Accounting Purpose)

ประเด็นทางบัญชีให้ความสำคัญกับ “เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ” (Substance Over Form) จึงมีประเด็นของ Consolidation ในมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 10 สำหรับบริษัทมหาชนซึ่งไม่นำมาใช้กับกรณี “หุ้นซื้อคืน” (มาตรฐานบัญชีเรื่อง “งบรวม” ยังไม่นำมาใช้กับบริษัทเอกชน)

กรณี Consolidation ไม่มี Legal Consolidation หรือ Tax Consolidation เพราะ “กฎหมาย” และ “ภาษี” มองแยกส่วนกันในแต่ละ “นิติบุคคล” เช่น บริษัทลูกเป็นลูกหนี้ธนาคาร...บริษัทแม่ไม่ได้เป็นลูกหนี้ด้วย (มุมกฎหมาย) เว้นแต่บริษัทแม่ค้ำประกันให้แก่บริษัทลูก หรือ กรณีบริษัทลูกขาดทุน (Tax Loss)...บริษัทแม่ไม่ได้ขาดทุน (Tax Loss) ด้วย (มุมภาษี) แต่หากบริษัทแม่เป็น “บริษัทมหาชน” ที่ใช้ “มาตรฐานบัญชี” แบบบริษัทมหาชน (PAE: Public Account Enterprise) จะต้องนำผลขาดทุนของบริษัทลูก (Accounting Loss) มาร่วมรับรู้ในผลประกอบการของบริษัทแม่ด้วยตาม “งบการเงินรวม” ...ประเด็น “ขาดทุน” นี้ยังมีความแตกต่างของ Accounting Loss และ ​Tax Loss ที่ต้องพิจารณาแยกไปอีกต่างหากในบทความหลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงระหว่าง “กฎหมาย” และ “บัญชี” ตลอดจน “ภาษี” แยกกันไม่ออกสำหรับ “กรรมการบริษัท” ที่มองภาพใน “องค์รวม” เพื่อ “ตั้งคำถาม” และ “ให้ความเห็น” ที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อบริษัท

 
ทำไม ? “แหล่งเงิน” ซื้อหุ้นคืน...ต้องเป็น “กำไรสะสม” เท่านั้น

“กำไรสะสม” คือ “เงินใหม่” (Surplus Fund) ที่งอกจากเงินทุนของผู้ถือหุ้น (Capital Fund) บริษัทไม่ได้ใช้ “เงินทุน”​ ซึ่งเป็น “เงินเดิม” และเป็น “เงินตั้งต้น” ของผู้ถือหุ้นมาใช้เป็น​ “อัฐยายซื้อขนมยาย” เพื่อ “ซื้อหุ้นตัวเอง” ดังนั้น “กำไรสะสม” ของบริษัทมหาชนที่ “ซื้อหุ้นตัวเอง” นี้จึงต้องมาจาก “งบการเงินเฉพาะกิจการ” ที่เป็น “กำไรจริง” ตามกฎหมายบริษัทที่มอง “บริษัท” แยกเป็น “รายนิติบุคคล” ต่างจาก “หลักการบัญชี” ที่มองบริษัทเป็น “กลุ่มธุรกิจ” ภายใต้การควบคุมเดียวกัน (Consolidation)

กรณีนี้ “แหล่งเงิน” ที่จะใช้ซื้อหุ้นคืน...ต้องมาจาก “เงินใน” เท่านั้น...ไม่สามารถใช้แหล่ง “เงินนอก” หรือ “กู้เงิน” มาซื้อหุ้นคืนได้...เหตุผล คือ บริษัทต้องมี “สภาพคล่องทางการเงิน” เพียงพอชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ใน 6 เดือนข้างหน้าอันเป็นการคุ้มครองเจ้าหนี้ด้วย...ตาม “หลักเจ้าหนี้มาก่อนเจ้าของ” และ การ “ก่อหนี้” เพิ่มจะสะท้อนว่าบริษัทไม่มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะซื้อหุ้นคืน

“กำไรสะสม” ถือเป็น “แหล่งเงิน” แหล่งเดียวที่บริษัทจะนำมาจ่ายเป็น “เงินปันผล”​ ให้แก่ผู้ถือหุ้น ดังนั้น การนำเงินกำไรมาซื้อหุ้นคืน...บริษัทมหาชนต้องประเมินแล้วว่ายังคงมี “เงินเพียงพอ” ที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในช่วง 3 ปีของการซื้อหุ้นคืน ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า...ก่อนจ่ายเงินปันผลบริษัทต้องประเมินแล้วว่ามีเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทในอีก 6 เดือนข้างหน้าตามที่กฎหมายกำหนด โดยสรุป บริษัทที่ซื้อหุ้นคืนต้อง “มองยาว” และมี “เงินสด” เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้และจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นตลอด “โครงการซื้อหุ้นคืน”

 
บริษัทมหาชน “ถือหุ้นตัวเอง” นานเพียงใด ?

กฎหมายบริษัทมหาชนกำหนดให้ “ถือหุ้นบริษัทตัวเอง” ได้ไม่เกิน 3 ปี...เหตุผลน่าจะเป็นเพราะ “ปัจจัยแวดล้อมด้านกฎหมาย” ที่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาดำเนินการซื้อหุ้นคืน คือ

(ก) การซื้อหุ้นคืนนี้กฎหมายกำหนดให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 6 เดือน

(ข) บริษัทต้องประเมิน “ความสามารถในการชำระหนี้” ที่จะถึงกำหนดในอีก 6 เดือนข้างหน้า

เมื่อดูจาก “กรอบเวลา” ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ดำเนินการตามนี้รวมแล้ว 1 ปี (6 + 6 = 12 เดือน) และ เพื่อให้ประเมินผลประกอบการของบริษัทตาม “รอบระยะเวลาบัญชี” คือ 1 ปี โดยการ “เปรียบเทียบ” งบการเงินของบริษัท 2 ปี (งบเปรียบเทียบ) เหตุผลเบื้องหลังของ 3 ปีในการ “ขายหุ้นคืน” น่าจะเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้ตามกรอบเวลาที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

ข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่ง คือ ระหว่าง “บริษัทซื้อหุ้นทุนคืน” นี้...บริษัทมหาชนไม่สามารถ “เพิ่มทุน” จดทะเบียนเพื่อ “ระดมเงินทุนเพิ่ม” จากผู้ถือหุ้นได้...ต้องรอจนกว่า “โครงการซื้อหุ้นคืน” จะเสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการ “เพิ่มทุน”​ และ “ออกหุ้นใหม่” ขายให้แก่ผู้ถือหุ้น...เบื้องหลังของ “เงื่อนไข” นี้สะท้อนให้เห็นว่า “สภาพคล่องทางการเงิน” ของบริษัทแข็งแกร่งเพียงพอที่จะใช้ “กำไรสะสม” (Surplus Fund) หรือ “สภาพคล่องส่วนเกิน” โดยไม่กระทบต่อ “เจ้าหนี้ของบริษัท”​ และไม่กระทบต่อ “เงินตั้งต้น”​ เดิมที่เป็น “เงินทุน” ของผู้ถือหุ้น

 
กฎหมายกำหนดเงื่อนไข “ซื้อหุ้นคืน” อะไรบ้าง ?

การซื้อหุ้นคืนของบริษัทมหาชน...กฎหมายกำหนดให้ต้องมี “ข้อบังคับบริษัท” ที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์และเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้นและคนทั่วไปสามารถดูและคัดสำเนาได้จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า...ข้อบังคับเปรียบเสมือน “กฎกติกาของบริษัท” ที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้ถือหุ้น” และ “คณะกรรมการบริษัท” ตลอดจนเรื่องอื่นที่สำคัญ เช่น การประชุมผู้ถือหุ้น การประชุมคณะกรรมการบริษัท การจ่ายเงินปันผล ฯลฯ

“ข้อบังคับบริษัท” อยู่ภายใต้กฎหมายบริษัทมหาชนกำหนดให้บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนได้จากผู้ถือหุ้น...และให้อำนาจ (Authorization) แก่ “คณะกรรมการบริษัท” ที่สามารถประชุมเพื่อ “ลงมติ” ในการซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารทางการเงินของบริษัท...หากไม่มีข้อบังคับบริษัทกำหนดเรื่องนี้ไว้ ? บริษัทมหาชนจะไม่สามารถซื้อหุ้นคืนได้

นอกจากนั้น การซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นเพื่อบริหารทางการเงินนั้น บริษัทจะซื้อหุ้นคืนได้ไม่เกิน 10% ของหุ้นทั้งหมด หากต้องการซื้อหุ้นคืนเกินกว่า 10% ต้องผ่าน “มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น” เท่านั้น

หน้าที่ของ “คณะกรรมการบริษัท” มีความสำคัญตรงที่เป็น “จุดเริ่มต้น” ในการประชุมเพื่อ “ซื้อหุ้นคืน” และแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ให้ผู้ถือหุ้นทั่วไปทราบว่าบริษัทกำลังเข้าสู่ “โครงการซื้อหุ้นคืน” ในวงเงินไม่เกินเท่าใด ? ในสัดส่วนหุ้นร้อยละเท่าใด ? จำนวนกี่หุ้น ? หลักเกณฑ์กำหนดราคาซื้อหุ้นคืนเป็นอย่างไร ? ระยะเวลาโครงการเริ่มต้นสิ้นสุดเมื่อใด ? เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้ “เตรียมคิด” และ “ตัดสินใจ” ว่าจะขายหุ้นคืนให้แก่บริษัทหรือไม่ ? ผู้ถือหุ้นท่านใด ? คิดว่า “ขายหุ้นคืน”​ เพื่อทำกำไร (Capital Gain) ก่อน (ไม่รอเงินปันผล) ย่อมมี “ทางเลือก” ในการลงทุนเพื่อเลือก “รูปแบบ”​ ของผลตอบแทน (Optional Return) ในการลงทุนถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

หลังจากนั้น...บริษัทถือหุ้นตัวเองได้ไม่เกิน 3 ปีต้อง “ขายหุ้นกลับ” ออกไปให้แก่ผู้ถือหุ้น...หากขายไม่หมด บริษัทต้อง “ลดทุน” และ “ตัดหุ้นซื้อคืน” ที่ขายกลับไม่หมดนั้นออกจากทุนของบริษัท ดังนั้น “จุดสิ้นสุด” ของการ “ซื้อหุ้นทุนคืน” จะมาอยู่ที่การประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อดำเนินการ “ลดทุน” ต่อไป

ดังนั้น การซื้อหุ้นทุนคืนของบริษัทมหาชนมี “จุดเริ่มต้น” และ “จุดสิ้นสุด” ที่ “คณะกรรมการบริษัท” ทั้งหมด...กรรมการบริษัทมีประเด็นให้ “ตั้งคำถาม” และ “ให้ความเห็น” ตามประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องข้างต้น

ครั้งต่อไป...ผมจะ “วิเคราะห์” ให้เห็นถึง “มาตรฐานบัญชี” และ “หลักเกณฑ์ทางภาษี” เกี่ยวกับ “หุ้นซื้อคืน” เพื่อให้ “กรรมการบริษัทมหาชน” ได้มีแนวทางสำหรับ “ตั้งคำถาม” ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท

 

ชินภัทร วิสุทธิแพทย์
                     ONE Law Office

 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand