Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
Leading the Climate Change Conversation in Your Organization

แม้ว่าในช่วงนี้ หลายๆ ประเทศกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจากที่ประสบกับเหตุการณ์วิกฤตโรคอุบัติใหม่โควิด 19 ในช่วงสองปีกว่าที่ผ่านมา เป็นเหตุให้หลายๆ องค์กรต่างต้องรับมือและปรับธุรกิจให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ตั้งแต่การจัดการกับปัญหาเร่งด่วนอย่างโรคระบาด ปัญหาที่เกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้กระบวนการผลิตต้องหยุดชะงัก การเผชิญกับเทคโนโลยีใหม่ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและมีผลต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดเหตุสงครามขึ้น ก็ได้ส่งผลกระทบไปในวงกว้างทั่วโลก ถือเป็นอีกหนึ่งบททดสอบที่ทุกองค์กรต้องเรียนรู้และฝันฝ่าเหตุการณ์ไปด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกหนึ่งปัญหาที่ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่องค์กรทั่วโลกควรให้ความสำคัญไปไม่น้อยเช่นกัน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นในขณะนี้ ซึ่งจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากฤดูกาลต่างๆ ที่แปรปรวน พายุมรสุมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรง คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในซีกโลกตะวันตก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เรารับทราบกันเป็นอย่างดีถึงความแปรปรวนและความไม่แน่นอนที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการประชุมประเทศผู้นำใน COP 26 ที่เมืองกลาสโกว สกอตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ที่ผ่านมา โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการร่วมตกลงกันในภารกิจเพื่อมุ่งไปสู่ Net Zero ในปี 2050 แผนนี้ถือเป็นแผนระดับชาติที่ทุกประเทศจะต้องให้ความสำคัญ แล้วในฐานะองค์กรภาคเอกชนนั้น เราจะสามารถมีส่วนร่วมและวางแผนเพื่อบริหารจัดการกับประเด็นสำคัญนี้ได้อย่างไร


หากย้อนดูข้อมูลและสถิติต่างๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นได้ถูกจัดลำดับให้เป็นความท้าทายที่สำคัญอันดับต้นๆ ของคณะกรรมการและฝ่ายจัดการในทุกๆ อุตสาหกรรม ดังจะเห็นได้จากข้อมูลรายงานด้านความเสี่ยง “Global Risks Report” ปี 2022 โดยองค์กรระหว่างประเทศอย่าง World Economic Forum (WEF) ที่ได้จัดทำรายงานด้านความเสี่ยงนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อสรุปอันดับ 10 ความเสี่ยงที่สำคัญ โดยความเสี่ยงอันดับ 1 ในปี 2022 เป็นความเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อม นั่นคือ ความเสี่ยงจากความล้มเหลวในการจัดการกับสภาพภูมิอากาศ (Climate action failure) ตามที่นานาประเทศได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะต้องยื่นแผนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030 ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นสำหรับภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชากรโลกทุกคน

 

ที่มา: World Economic Forum

เมื่อสภาพภูมิอากาศได้กลับกลายขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญ องค์กรภาคเอกชนในทุกภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องดำเนินการและคอยติดตามดูแลเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านของการรายงานและเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การดูแลและจัดการกับความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสีย และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสังคม Net Zero โดยทางสถาบัน Governance Institute of Australia (GIA) ได้มีการออกรายงานแนวทางสำหรับคณะกรรมการและฝ่ายจัดการเพื่อนำพาองค์กรไปสู่ Net Zero (Guide for Boards and Management on the Path to Net Zero) โดยในรายงานดังกล่าวได้สรุปแนวทางที่ได้มาจากการรวบรวมแนวทางขององค์กรที่ได้เริ่มมีการลงมือปรับทิศทางเพื่อนำพาองค์กรไปสู่การเป็นองค์กร Net Zero แล้ว โดยแนวทางที่รวบรวมมาได้นั้นจะช่วยตอบคำถามให้กับองค์กรที่ยังไม่เห็นถึงความเร่งด่วน ไม่เห็นถึงความจำเป็น หรือยังไม่ทราบว่าควรจะเริ่มต้นหรือดำเนินการอย่างไรบ้างกับจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น


โดยทั่วไปแล้ว แต่ละองค์กรสามารถจัดการกับความเสี่ยงด้านภูมิอากาศได้เหมือนกับความเสี่ยงด้านอื่นๆ ของธุรกิจ แต่สิ่งที่ทำให้การจัดการกับความเสี่ยงด้านความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีความยากมากกว่านั้น ก็เนื่องมาจากความไม่แน่นอนในการคาดคะเนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และการที่ถูกมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องอนาคตที่ไกลตัวมาก หลายๆ องค์กรจึงไม่ได้มีการจัดสรรทรัพยากร หรือวางแผนดำเนินการไปในด้านนี้ได้อย่างเต็มที่นัก แต่แน่นอนว่า หากเกิดเหตุการณ์ปรากฏการณ์ทางด้านธรรมชาติในครั้งต่อไป ผลกระทบย่อมทวีความรุนแรงมากขึ้นและเกิดขึ้นในวงกว้าง ดังนั้น องค์กรต่างๆ จึงควรเริ่มคิดที่จะดำเนินการและหาแนวทางจัดการกับความเสี่ยงดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่อาจจะเกิดขึ้น


ทางสถาบัน GIA ได้ให้แนวทางในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อตอบคำถามใน 3 ประเด็นหลัก คือ
• องค์กรจะทำให้เรื่องของภูมิอากาศฝังเข้าไปถึงแก่นขององค์กรได้อย่างไร
• องค์กรจะจัดการกับความท้าทายต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างไร
• องค์กรจะมั่นใจได้อย่างไรว่าการรายงานข้อมูลต่างๆ ขององค์กรเป็นไปตามความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
ซึ่งในบทความนี้ จะขอดึงเอาบางส่วนในรายงานฉบับนี้ที่เกี่ยวข้องกับการทำอย่างไรให้เกิดบทสนทนาในองค์กรเพื่อที่จะนำเอาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเข้ามาพิจารณาทั้งในแง่โอกาสและความเสี่ยงต่อองค์กรเป็นหลัก


การวางแผนและเตรียมการสำหรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Orchestrating the climate change conversation)

ที่มา: Governance Institute of Australia



1. มองในมุมธุรกิจต่อองค์กร
- ทำความเข้าใจและวาดแผนผังผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อองค์กร โดยการรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอก ต่อมุมมองความเสี่ยงและโอกาสใหม่ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะมีต่อองค์กร
- ในทางกลับกัน วางแผนผังผลกระทบจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กรที่อาจมีต่อสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น บริษัทมีการปล่อยของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินงานและห่วงโซ่อุปทานทางไหนและอย่างไรบ้าง เป็นต้น

2. ทำความเข้าใจต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย
- พิจารณาผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ และจัดลำดับความสำคัญ
- ติดตามและให้มีการรายงานผลการดำเนินงานต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียอย่างเป็นประจำ

3. การได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการและผู้บริหาร
- คณะกรรมการมีการสอบถามฝ่ายจัดการถึงแนวทางการดำเนินการจัดการกับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศ ทั้งทางด้านโอกาสและความเสี่ยง
- มีการวางกระบวนการโดยฝ่ายจัดการและนำเสนอคณะกรรมการเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนในการดำเนินการประเมิน บริหารจัดการ และการจัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลในด้านนี้

4. สร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กร
- ผนวกการดำเนินการด้านความยั่งยืนและเป้าหมายการดำเนินการด้านภูมิอากาศเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Purpose ขององค์กร เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนทั้งองค์กร ตามมาด้วยการสื่อสารและการกำหนดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจและความรู้สึกเกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายนี้

จากขั้นตอนและการเตรียมการข้างต้น การวางแผนและเก็บข้อมูลประเด็นผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศทั้งที่มีต่อองค์กร และผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรที่มีต่อภูมิอากาศนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาออกมาเป็นแผนกลยุทธ์ในการมุ่งสู่ Net Zero โดยประเด็นในการพิจารณาเรื่องนี้นั้นควรพิจารณาบูรณาการควบคู่ไปกับโครงสร้างด้านการกำกับดูแลภายในองค์กร และแผนบริหารจัดการด้านความเสี่ยง ตลอดจนประเด็นในด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Governance, Risk and Compliance: GRC)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการดำเนินการที่ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศยังปรากฎไม่แน่ชัด ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านองค์กรไปสู่ Net Zero ยังไม่ปรากฏภาพที่ชัดเจน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจของผู้นำองค์กร แต่หากผู้นำองค์กรมีความตั้งใจและให้ความสำคัญในประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศ โดยถือให้เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการจัดการเป็นอันดับต้นๆ แน่นอนว่าในช่วงของการเปลี่ยนผ่านย่อมมีผลกระทบทางด้านการเงินต่อองค์กรบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน องค์กรก็อาจจะค้นพบโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับองค์กรได้ ที่สำคัญ โอกาสทางธุรกิจนั้นยังช่วยสนับสนุนและสร้างการเติบโตให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย โดยคณะกรรมการถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะทำหน้าที่สนับสนุนฝ่ายจัดการในการช่วยปรับทิศทางและมุมมองขององค์กร ชี้ประเด็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

ข้อมูลอ้างอิง:
• Governance Institute of Australia, Guide for boards and management on the path to net zero, April 2022
• World Economic Forum, Global Risks 2022: The ‘disorderly’ net-zero transition is here and it’s time to embrace it, January 2022.
• สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย, แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการเกี่ยวกับการบูรณาการ GRC, 2021

 

รวงฝน ใจสมุทร
Senior CG Analyst
สถาบันกรรมการบริษัทไทย

 

 

 

 


 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand