Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
จากห้องประชุมบอร์ดสู่ห้องประชุมออนไลน์: ทำอย่างไรให้การประชุมมีประสิทธิภาพ

จากห้องประชุมบอร์ดสู่ห้องประชุมออนไลน์: ทำอย่างไรให้การประชุมมีประสิทธิภาพ

ในปัจจุบันนี้ คงไม่มีกรรมการท่านใดที่ยังไม่เคยประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นผ่านระบบ Zoom, MS Team, Webex หรือแพลตฟอร์ม (platform) อื่นๆ ที่แต่ละองค์กรจัดหามาเพื่อสนับสนุนการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) หรือการทำงานทางไกล (remote working) ซึ่งเรื่องนี้ได้กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับแทบทุกองค์กรไปเสียแล้ว

การประชุมคณะกรรมการบริษัทที่มีกระบวนการและขั้นตอนในการเตรียมและการจัดการที่ค่อนข้างมาก ตั้งแต่การประสานงานนัดหมายตารางกรรมการ การจัดเตรียมสถานที่ อาหาร เครื่องดื่ม การเตรียมและจัดส่งเอกสารการประชุม การเดินทางที่ต้องเผื่อเวลาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วน และภาพของการประชุมที่กรรมการดูเหนื่อยล้าจากการเดินทางและจากการประชุมที่แสนยาวนาน…...สิ่งเหล่านี้ได้หายไปตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิค-19 ที่บังคับให้รูปแบบการประชุมคณะกรรมการเปลี่ยนไปเป็นแบบ virtual หรือออนไลน์

กรรมการหลายๆท่านนั้นอาจจะยังไม่คุ้นชินกับการพิจารณา หารือ และร่วมกันตัดสินใจผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วจะทำอย่างไรให้การประชุมคณะกรรมการแบบออนไลน์นั้นเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากที่สุด Boardroom article ฉบับนี้จะมาบอกถึงแนวทางที่จะทำให้การประชุมคณะกรรมการแบบออนไลน์นั้นมีประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบด้วย 8 แนวทางด้วยกัน ดังนี้



1. เชื่อมโยงกรรมการสู่พันธกิจขององค์กร (Connect board members to the mission)
โดยส่วนใหญ่ การประชุมคณะกรรมการจะเกิดขึ้นสามเดือนหรือสองเดือนต่อครั้ง ช่วงเวลาที่ห่างเป็นเดือนๆนี้อาจทำให้กรรมการบางท่านรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และยิ่งการประชุมนั้นต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบออนไลน์ที่ต่างคนต่างอยู่คนละที่กันนั้น ก็อาจจะทำให้กรรมการเกิดความรู้สึกดังกล่าวมากขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงควรมีการสื่อสารและเน้นย้ำถึงพันธกิจขององค์กรและการทำหน้าที่ของกรรมการเพื่อกระตุ้นให้กรรมการยังคงรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุพันธกิจร่วมกัน ด้วยการใช้เทคนิคต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดวิดีโอคลิปสั้นๆ เกี่ยวกับพันธกิจองค์กรและผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งวิธีนี้ยังสามารถสร้างบรรยากาศการเริ่มประชุมที่ดี และเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาและความกระตือรือร้นได้อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยให้กรรมการได้ทบทวนและปรับโหมดการทำงานให้สามารถตั้งคำถาม วิเคราะห์ และแสดงความเห็นภายใต้ขอบเขตของพันธกิจเดียวกัน


2. ให้การต้อนรับและคำแนะนำกรรมการใหม่ผ่านช่องทางออนไลน์ (Onboard new members virtually)

ด้วยลักษณะการทำงานและการประชุมแบบออนไลน์นั้นอาจทำให้กรรมการที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกรรมการที่ไม่ได้รับการแนะนำให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มกรรมการด้วยกัน หรืออาจไม่ค่อยรู้จักกรรมการท่านอื่นมากนัก ดังนั้น การจัดให้มีการปฐมนิเทศกรรมการใหม่และจัดให้มีการพบปะพูดคุยกับประธานกรรมการ กรรมการท่านอื่นๆ และเจ้าหน้าที่งานด้านกรรมการผ่านช่องทางออนไลน์ ก่อนการประชุมที่เป็นทางการใดๆจะเกิดขึ้นนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ หรืออาจจัดให้มี board buddy เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงแรกก็เป็นอีกวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง


3. ลดเวลาประชุมให้สั้นลง และจัดการประชุมให้บ่อยขึ้น (Schedule shorter and more-frequent meetings)

การประชุมออนไลน์ที่ยาวนานเกินไปอาจสร้างความเหนื่อยล้าให้กับกรรมการได้ ดังนั้น จากเดิมที่เคยประชุมสามเดือนหรือสองเดือนต่อครั้ง และส่วนใหญ่ใช้เวลาประชุมต่อครั้งประมาณ 3 ชั่วโมง ก็อาจลดเวลาให้เหลือเพียง 1.5 ถึง 2 ชั่วโมง และประชุมทุกๆหกสัปดาห์ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้การประชุมไม่ยาวนานเกินไป และยังเปิดโอกาสให้กรรมการได้เจอกันบ่อยขึ้นอีกด้วย


4. ลดการรายงาน เพิ่มการพิจารณาและหารือร่วมกัน (Minimize reporting and maximize discussion)

การสร้างการมีส่วนร่วมของกรรมการผ่านการประชุมแบบออนไลน์ที่ได้ผลนั้นจำเป็นต้องมีการออกแบบที่ดี ยกตัวอย่างเช่น การส่งเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการ (board packet) เพื่อสื่อสารข้อมูลที่สำคัญให้คณะกรรมการทราบก่อนการประชุม โดยอาจทำในรูปแบบของข้อมูลบันทึกเสียงหรือภาพ (pre-record information) ซึ่งจะช่วยลดสไลด์การนำเสนอในที่ประชุม และเมื่อถึงวันประชุมจริง คณะกรรมการเองก็สามารถโฟกัสที่การพิจารณา หารือ และตัดสินใจร่วมกันในเรื่องสำคัญต่างๆได้มากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว เรื่องที่พิจารณา หารือ และตัดสินใจร่วมกันในแต่ละครั้งนั้นควรอยู่ที่ประมาณ 2-3 เรื่อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการตัดสินใจสูงสุด


5. ต้องแน่ใจว่ากรรมการทุกท่านได้แสดงความคิดเห็น (Make sure everyone gets a chance to speak)

ด้วยเวลาที่ลดลงและวาระการประชุมที่มีมาก อาจเป็นสาเหตุให้กรรมการบางท่านไม่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากรรมการทุกท่านมีโอกาสนั้น ประธานกรรมการควรมีเช็คลิสต์ (checklist) รายชื่อกรรมการที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมดไว้ล่วงหน้า และควรตั้งค่าการมองเห็นผู้เข้าร่วมทั้งหมดในการประชุม เช่น การตั้งค่าการมองเห็นให้เป็น Gallery View ใน Zoom เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าได้มีการเชิญกรรมการทุกท่านให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นแล้ว


6. เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการประชุมด้วย Virtual Tools (Make the most of virtual tools to boost participation)

การใช้ Virtual Tools อย่างเช่น Breakout rooms (การแบ่งกลุ่มย่อย) ที่จะช่วยให้กรรมการทุกคนได้แสดงความคิดเห็นกันเต็มที่ในกลุ่มย่อย ก่อนที่จะกลับมานำเสนอในห้องประชุมใหญ่ โดยอาจใช้เวลาสั้นๆประมาณ 15 นาที เพื่อระดมความคิดเห็นกัน หรือ Polls (การสำรวจความคิดเห็น) ที่จะช่วยให้ได้คำตอบที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งดีกว่าการยกมือโหวตธรรมดาๆ หรือ Chat boxes (การพูดคุยผ่านช่องทางแชท) ที่จะช่วยให้กรรมการสามารถตอบคำถามได้อย่างทันที และก็ยังสามารถยกประเด็นหรือถามคำถามได้โดยไม่จำเป็นต้องพูดแทรกระหว่างที่กรรมการท่านอื่นกำลังพูด โดย Virtual Tools ทั้ง 3 อย่างนี้ สามารถทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างกรรมการได้มากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว ยังช่วยให้เกิด input มากขึ้นอีกด้วย


7. ควบคุมเมื่อเกิดความขัดแย้ง (Take charge when conflict erupts)

การมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันและโต้แย้งกันนั้นเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ในที่ประชุม ซึ่งเป็นหน้าที่ของประธานกรรมการที่จะต้องควบคุมไม่ไห้ความขัดแย้งในเชิงลบเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมออนไลน์นั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เนื่องจากกรรมการแต่ละท่านไม่สามารถเห็นภาษากาย (body language) ของกันและกัน จึงอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ง่าย ดังนั้นแล้ว เมื่อใดก็ตามที่ความขัดแย้งนั้นมีแนวโน้มที่จะควบคุมไม่ได้และดูว่าจะบานปลาย ประธานกรรมการควรหยุดกรรมการที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทันที โดยการควบคุมการออกเสียงแสดงความเห็นผ่านการใช้ฟังก์ชั่นงานของระบบ หรือเชิญกรรมการท่านนั้นออกไปพักรอและควบคุมอารมณ์ที่ห้องรับรองหรือที่เรียกว่า Lobby ในระบบออนไลน์ ก่อนเข้าห้องประชุมออนไลน์อีกครั้ง


8. จัดให้มีงานหรือการพูดคุยกันในรูปแบบอื่นๆที่นอกเหนือจากการประชุมเพื่อส่งเสริมและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกรรมการ (Organize social events outside meetings to foster relationships)

ในบางครั้ง กรรมการก็อาจจะต้องการทำความรู้จักหรือพูดคุยกับกรรมการท่านอื่นในบรรยากาศและรูปแบบที่ไม่เป็นทางการมากนัก อย่างคณะกรรมการของ National AIDS Memorial ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดให้มี “water cooler session” ในทุกๆเดือน เพื่อให้กรรมการเข้ามาพูดคุยกันโดยไม่มีวาระการประชุมใดๆ ซึ่งในช่วงแรกก็เป็นที่สงสัยของเหล่ากรรมการถึงวัตถุประสงค์ของ session นี้ แต่ในท้ายที่สุด วิธีนี้กลับสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกรรมการด้วยกันเป็นอย่างมาก

ในยุคที่การออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน แนวทางทั้ง 8 แนวทางนี้จึงอาจเป็นความท้าทายให้กับกรรมการที่คุ้นชินกับการประชุมแบบเดิมๆ ให้ได้ปรับตัวและลองอะไรใหม่ๆ ซึ่งก็คงไม่ยากเกินที่จะทำได้ หากทุกท่านมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ทำให้การประชุมคณะกรรมการในทุกๆครั้งนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ขององค์กรและผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรเอง และแม้ต่อไปในอนาคตที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (Pandemic) ได้เบาบางลงแล้ว การประชุมออนไลน์นั้นก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่เริ่มมีบทบาทเข้ามาแทนที่การประชุมแบบเดิมๆ (in-person meetings) มากขึ้น จนมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดรูปแบบของการประชุมแบบผสมผสาน (hybrid meetings) ที่รวมเอาทั้งออนไลน์และ in-person เข้าด้วยกัน นี่จึงเป็นโอกาสที่กรรมการจะได้เรียนรู้และเตรียมตัวให้พร้อมสู่สังคมการทำงานหลัง Pandemic ที่อาจเปลี่ยนไป

 

รตนพรรษ เยาวบุตร
Senior CG Specialist
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย

 

ที่มา: พัฒนามาจาก “Leading Boards in a Virtual World”, Stanford Social Innovation Review, by Mark Zitter & Jon Huggett, March 17, 2021

 

 

 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand