Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
Fiduciary Duty กับความยั่งยืนขององค์กร

Fiduciary Duty กับความยั่งยืนขององค์กร

เมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา Wirecard บริษัทด้านเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำของประเทศเยอรมัน ที่ครั้งหนึ่งเคยเติบโตอย่างรวดเร็วและมีมูลค่ามหาศาล กำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซึ่งมีผลมาจากกรณีที่พบว่า เงินจำนวน 1,900 ล้านยูโรหรือประมาณ 66,000 ล้านบาทได้หายไปจากบัญชี ซึ่งกรณีนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องระบบการเงินยุคใหม่ที่มีช่องโหว่ ความล้มเหลวของหน่วยงานตรวจสอบ ตลอดจนการทำหน้าที่ของคณะกรรมการในการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของนักลงทุน (Investors’ Interests) ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

จากบทความเรื่อง Wirecard Scandal Puts German Boards on the Spot โดย Chris Hughes, Bloomberg Columnist ได้กล่าวว่า บริษัทในประเทศเยอรมันนั้นจะถูกบริหารจัดการโดยผู้บริหารที่เป็นกรรมการ (Management Board) ส่วนกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารนั้นจะนั่งเป็น Supervisory Board ซึ่งมีหน้าที่ในการแต่งตั้ง ติดตามดูแล และให้คำปรึกษาแก่ฝ่ายจัดการเท่านั้น ในกรณีของ Wirecard ระดับ Supervisory Board ประกอบด้วยกรรมการเพียง 3 ท่านในช่วงบริษัทเริ่มกิจการ และได้เพิ่มเป็น 5 ท่านเท่านั้นในปี 2016 นอกจากนั้นแล้ว บริษัทยังไม่มีคณะกรรมการชุดย่อยที่ทำหน้าที่สนับสนุนคณะกรรมการ อันได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และเป็นอย่างนี้เรื่อยมาจนต้นปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่ Financial Times ได้เริ่มสงสัยและเริ่มทำการสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับการตกแต่งบัญชีของบริษัท

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โครงสร้างของคณะกรรมการที่ได้กล่าวข้างต้นนั้นถือว่าไม่เหมาะสมกับการกำกับดูแลองค์กรที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและยิ่งใหญ่อย่าง Wirecard เท่าไรนัก ยิ่งไปกว่านั้น การทำหน้าที่ของคณะกรรมการยังเป็นเพียงแค่การนั่งสังเกตการณ์และทำหน้าที่ตามตำแหน่งทางกฏหมายเท่านั้น ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานแบบ box-ticking ของคณะกรรมการอย่างเห็นได้ชัด

คำถามคือ การทำหน้าที่ของคณะกรรมการในปัจจุบันควรเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป เกิด disruptions มากมาย ไม่ว่าจะมาจากเทคโนโลยี การเมืองภายในประเทศและระดับสากล การเกิดโรคระบาด ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายของคณะกรรมการที่จะต้องรับมือให้ได้ เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของนักลงทุน ผู้ถือหุ้น (Shareholders) และผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ที่มีมากขึ้น ดังนั้น คณะกรรมการจะต้องติดอาวุธให้ตนเองด้วยความรู้ ทักษะ และความสามารถในการกำกับดูแลการดำเนินงานขององค์กรในเชิงรุกมากขึ้น โดยคณะกรรมการจะต้องเข้าใจธุรกิจ ร่วมกำหนดทิศทางในการดำเนินงาน และสามารถมีข้อมูลที่จะใช้ในการติดตามดูแลการดำเนินงานของฝ่ายจัดการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งนั่นอาจหมายความว่า กรรมการจะต้องทำหน้าที่มากกว่าที่ได้รับมอบหมายตามตำแหน่งทางกฎหมาย

แล้วคณะกรรมการจะทำอย่างไรเพื่อที่จะรับมือกับความท้าทายและความคาดหวังเหล่านั้นได้ มีหลักปฏิบัติอะไรไหมที่คณะกรรมการสามารถยึดถือเพื่อนำไปปฏิบัติได้จริง

ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ในฐานะที่เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้น จำเป็นจะต้องยึดหลัก Fiduciary Duty หรือหลักความไว้วางใจ ซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานที่ให้คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งจาก Director Fiduciary Duty Check List ที่พัฒนาโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai IOD) ได้ระบุไว้ว่ากรรมการทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลการบริหารกิจการขององค์กรให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น ซึ่งกรรมการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบระมัดระวัง (Duty of Care) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต (Duty of Loyalty) ปฏิบัติหน้าที่เพื่อติดตามให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ มติคณะกรรมการและมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Duty of Obedience) และปฏิบัติหน้าที่เพื่อกำกับดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส และทันเวลา (Duty of Disclosure) ซึ่งหลักการเหล่านี้มีความสอดคล้องกับเนื้อความใน พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

และตามที่ได้กล่าวไปถึงความคาดหวังของนักลงทุน ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลที่มีมากขึ้น ตลอดจนเหตุผลด้านการรักษา Performance ขององค์กรที่มาสร้างความกดดันให้คณะกรรมการต้องให้ความสนใจมากเป็นพิเศษในปัจจุบัน การทำหน้าที่ของคณะกรรมการทั้ง 4 หน้าที่นั้นจึงจำเป็นต้องถูกขยายขอบเขตออกไปเพื่อรักษาสมดุลระหว่างระหว่าง Compliance Roles และ Performance Roles ของคณะกรรมการ อันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนขององค์กรในที่สุด

เริ่มที่ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบระมัดระวัง (Duty of Care) การตัดสินใจของกรรมการด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่กรรมการต้องปฏิบัติโดยพื้นฐาน แต่การตัดสินใจนั้นอาจจะไม่สมบูรณ์ หากกรรมการไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียร่วมด้วย นอกจากนั้นแล้ว กรรมการควรต้องทำหน้าที่ในการพูดคุยกับฝ่ายจัดการในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ รวมถึงการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอยู่เป็นประจำ

การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต (Duty of Loyalty) จากเดิมที่กรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น โดยจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) และการใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตน (Insider Trading) เป็นสำคัญนั้น ในปัจจุบัน บทบาทของกรรมการยังจะต้องช่วยส่งเสริมการดำเนินการใดๆที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีส่วนได้เสียร่วมด้วย และควรต้องปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกรายอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน

การปฏิบัติตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ มติคณะกรรมการและมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Duty of Obedience) นอกเหนือจากการปฏิบัติตามทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้น กรรมการควรต้องปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลองค์กรให้ดำเนินธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใสและมีจริยธรรมร่วมด้วย โดยอาจกำหนดเป็นจรรยาบรรณธุรกิจ แนวปฏิบัติที่ดี และมาตรฐานวิชาชีพต่างๆ ขึ้นมาในองค์กร และติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติตาม พร้อมทั้งสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจเป็นสำคัญ

การปฏิบัติหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูล (Duty of Disclosure) ที่นอกเหนือจากจะเปิดเผยให้กับผู้ถือหุ้นแล้ว กรรมการควรมุ่งเน้นให้มีการเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆร่วมด้วย ซึ่งข้อมูลที่เปิดเผยนั้นจะต้องเป็นทั้งส่วนที่เป็นข้อมูลทางการเงิน และไม่ใช่การเงินร่วมกัน ซึ่งหมายรวมถึง ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้าน ESG (Environment, Social และ Governance) ด้วย อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยที่ดีนั้นยังจะต้องเป็นไปตามหลักการเดิม นั่นคือ มีความถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส ทันเวลา และสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกนั่นเอง

การทำหน้าที่ของกรรมการที่ขยายขอบเขตมากขึ้นใน Fiduciary Duty ทั้ง 4 ด้านนี้ สะท้อนให้เห็นแล้วว่าคณะกรรมการถือเป็นผู้นำคนสำคัญในการขับเคลื่อนและผลักดันองค์กรไปสู่ความยั่งยืน โดยต้องทำหน้าที่ครอบคลุมทั้งทางด้านของ Compliance Roles และ Performance Roles ควบคู่กันไป และที่สำคัญ กรรมการในปัจจุบันจะต้องทำหน้าที่เชิงรุกมากขึ้นกว่าแต่ก่อน เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว ภายใต้สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง

หากคณะกรรมการของ Wirecard ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ใส่ใจ และทำงานร่วมกับฝ่ายจัดการอย่างใกล้ชิดมากขึ้น พร้อมทั้งยึดหลัก Fiduciary Duty ตามข้างต้น เหตุการณ์อื้อฉาวเหล่านี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น หรือความรุนแรงของผลกระทบที่มีต่อบริษัทก็อาจจะลดลงไปได้ เพราะกรรมการอาจจะล่วงรู้และสามารถเข้ามากำกับดูแลได้ทัน เหตุการณ์นี้จึงเป็นเหมือนอุทธาหรณ์อีกครั้งที่คอยเตือนใจให้กรรมการอย่าลืมบทบาทหน้าที่ของตน และพร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ

ที่มา
Director Fiduciary Duty Check List, Thai Institute of Directors Association
Wirecard Scandal Puts German Boards on the Spot, Chris Hughes, 30 June 2020, Bloomberg
https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2020-06-30/wirecard-scandal-puts-german-boards-on-the-spot

รตนพรรษ เยาวบุตร
Senior CG Specialist 
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand