Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
5 แนวปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการในการผลักดันองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลง และกำกับดูแลให้บรรลุผลสำเร็จ

 5 แนวปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการในการผลักดันองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลง และกำกับดูแลให้บรรลุผลสำเร็จ


ปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความต้องการสินค้าและบริการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดที่เป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมาอย่างมากมายมหาศาล รวมไปถึงผู้มีส่วนได้เสียและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจที่นับวันจะยิ่งมีบทบาทสำคัญมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่ดีสำหรับองค์กรที่จะลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนตัวเองและเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่หลายองค์กรก็เลือกที่จะชะลอการปรับเปลี่ยนตัวเองออกไปครั้งแล้วครั้งเล่าโดยการอ้างเหตุผลนานัปการ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้องค์กรจำนวนมากตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างจริงจัง เพราะมองเห็นแล้วว่าหากยังคงใช้วิธีการทำงานแบบเดิมๆ หรือ Business Model แบบเดิมๆ ที่เคยนำมาใช้ ถึงแม้จะการันตีด้วยความสำเร็จและการเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ในอดีต ก็อาจไม่สามารถนำมาซึ่งความสำเร็จในบริบทของโลกใหม่ได้อีกต่อไป จากที่เห็นตัวอย่างความล้มเหลวของบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ปรากฎอย่างมากมายในปัจจุบัน

การขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ในยุคต่อจากนี้ ผู้นำของแต่ละองค์กรจำเป็นจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการปรับต้วให้สอดคล้องต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีการประเมินความเสี่ยงที่ครอบคลุมมากขึ้น มีการปรับแผนกลยุทธ์ให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที อีกทั้งยังจำเป็นจะต้องดึงเอาความรู้ความสามารถของผู้นำที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้นำจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยนำพาให้ธุรกิจและคนในองค์กร “อยู่รอด” ไปด้วยกัน ในขณะเดียวกัน ผู้นำก็สามารถผลักให้ธุรกิจและคนในองค์กร “ดิ่งลงเหว” ไปพร้อมกันได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “คณะกรรมการ” ในฐานะที่เป็นผู้นำสูงสุดขององค์กร ที่จะต้องมองเห็นถึงความเสี่ยงก่อนใคร และพยายามผลักดันให้องค์กรเริ่มปรับเปลี่ยนไปสู่ทิศทางใหม่และอยู่ให้ได้อย่างยั่งยืน

เริ่มต้นจากการที่คณะกรรมการควรกำหนดทิศทางและเป้าหมายสำหรับการเติบโตขององค์กรเสียก่อน “เราจะเติบโตแบบไหน? เติบโตแค่ไหน? และจะเติบโตได้อย่างไร?” เพราะหากไม่มีการกำหนดทิศทางเอาไว้เป็นกรอบที่ชัดเจนเช่นนี้ การบริหารจัดการที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คงจะมีแต่ความไม่แน่นอนและเกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างไม่มีประโยชน์

5 แนวปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการในการชี้นำและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรและกำกับดูแลให้การเปลี่ยนแปลงนั้นบรรลุผลสำเร็จ มีดังนี้

1. Sets the direction for transformation คณะกรรมการควรกำหนดทิศทางของการเปลี่ยนแปลง โดยเป็นทั้ง "ผู้วางทิศทาง/กรอบนโยบาย" และเป็น "ผู้ติดตามดูแลทิศทาง/กรอบนโยบาย" เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้นสามารถสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรในระยะยาวได้จริง กรรมการจึงควรทำให้เกิดความมั่นใจว่าทิศทางและเป้าหมายสำหรับการเติบโตขององค์กรมีการระบุเอาไว้อย่างชัดเจน

2. Ensures total alignment คณะกรรมการควรทำให้เกิดความมั่นใจว่า ทิศทาง/กรอบนโยบายและการนำไปปฏิบัติมีความสอดคล้องกันทั้งหมด มิฉะนั้นแล้วอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจและการบริหารจัดการตามมาได้ ประธานกรรมการควรมีส่วนช่วยในการดูแลให้เกิดความแน่ใจว่าทุกสิ่งดำเนินไปในทิศทางเดียวกันและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรรมการควรจะตั้งคำถามที่ท้าทายเพื่อให้เห็นความไม่สอดคล้องกันปรากฏขึ้นและจะได้รับการแก้ไขได้ทัน

3. Manages its own and management’s hunger for growth and transformation คณะกรรมการควรพิจารณาถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่แท้จริง เนื่องจากกรรมการมักจะเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ จึงมีความกระหายในการสร้างการเติบโตและการประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ความปรารถนานี้จะต้องไม่กระทบต่อบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ในการท้าทายความคิดของฝ่ายจัดการ กลั่นกรอง รวมทั้งทำให้เกิดความแน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์จริงๆ ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการก็ต้องติดตามดูแลให้แน่ใจว่าฝ่ายจัดการได้ทุ่มเทแรงกายและเวลาไปกับสิ่งที่จะสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้กับองค์กรอย่างแท้จริง

4. Reviews lessons learnt from transformation คณะกรรมการควรนำบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงองค์กรกลับมาพิจารณาทบทวน เพื่อให้แน่ใจว่าองค์กรได้มีการนำสิ่งที่เกิดขึ้นกลับมาเรียนรู้ มาใช้เป็นประสบการณ์ ในการป้องกันหรือแสวงหาโอกาสซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร

5. Continually improves its own effectiveness คณะกรรมการควรพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพราะการที่จะนำองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงและประสบความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถและความมีประสิทธิภาพในการตัดสินใจของคณะกรรมการนั่นเอง ดังนั้น การทบทวนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของคณะกรรมการอย่างเข้มงวดก็จะช่วยทำให้มั่นใจได้ว่าคณะกรรมการจะสามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย

ปรับปรุงบางส่วนจากบทความ 5 Ways a Board Can Lead Change, Australian Institute of Company Directors

 

เบญญาดา กำลังเสือ
ผู้เชี่ยวชาญ CG อาวุโส
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)

 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand