Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
คุณภาพงานสอบบัญชี…เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการตรวจสอบอย่างไร

 คุณภาพงานสอบบัญชีเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการตรวจสอบอย่างไร

            ถ้าพูดถึงคำว่า “สอบบัญชี” ทุกคนต้องคิดถึง “ผู้สอบบัญชี” หรือ “สำนักงานสอบบัญชี”  การคิดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นงานในความรับผิดชอบโดยตรง แต่หากพูดถึง “คุณภาพงานสอบบัญชี” นอกจากจากผู้สอบบัญชีหรือสำนักงานสอบบัญชีแล้ว คุณคิดถึงใคร

           IOD อยากให้คุณคิดว่า ใครเป็นผู้คัดเลือกและเสนอชื่อให้คณะกรรมการพิจารณาเห็นชอบและเสนอให้     ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท และใครที่ทำหน้าที่ในการสอบทานรายงานทางการเงินให้มีความถูกต้องและพอเพียง โดยมีผู้สอบบัญชีเป็นผู้ช่วยในการสอบทาน เชื่อว่า คำตอบของทุกคน คงหนีไม่พ้น “คณะกรรมการตรวจสอบ” ซึ่งคำถามต่อไป คือ คณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวข้องกับคุณภาพงานสอบบัญชีอย่างไร 

          คุณภาพงานสอบบัญชีจะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้สอบบัญชีที่ดีและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง   การมีผู้สอบบัญชีที่ดีได้นั้น ทางหน่วยงานกำกับดูแลได้กำหนดไว้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบว่า จะต้องพิจารณาคัดเลือก เสนอแต่งตั้งบุคคล ซึ่งมีความเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่ผู้สอบบัญชีของบริษัท และด้วยเหตุที่ผู้สอบบัญชีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้แทนจากภายนอกเพื่อเข้ามาสอบทานให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ การแต่งตั้งและกำหนดค่าตอบแทนของผู้สอบบัญชีจึงกลายเป็นวาระหลักวาระหนึ่งของการประชุมผู้ถือหุ้น

            หากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมา วาระแต่งตั้งผู้สอบบัญชีส่วนใหญ่จะนำเสนอแค่เพียงชื่อและจำนวนค่าตอบ แทนเท่านั้นแต่จากผลการประเมินโครงการ CGR ของ IOD ปี 2562 พบว่า 99% ของบริษัทจดทะเบียนไทยได้นำเสนอถึงชื่อ เหตุผลของการเลือก และข้อมูลค่าตอบแทนแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม บางบริษัทอาจยังนำเสนอเหตุผลของการเลือกไม่ชัดเจนมากนักซึ่งจุดนี้ IOขอคำแนะนำให้คณะกรรมการตรวจสอบศึกษา “แนวทางสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบในการพิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชี” ที่จัดทำโดย ก.ล.ต. ซึ่งได้นำเสนอประเด็นที่คณะกรรมการตรวจสอบควรถามจากสำนักงานสอบบัญชีก่อนตัดสินใจเลือกที่ครอบคลุมทั้ง 1. การให้ความสำคัญกับคุณภาพงานสอบบัญชี 2. การจัดสรรทรัพยากรบุคคลอย่างเพียงพอและเหมาะสม  3. การมีส่วนร่วมของผู้สอบบัญชีและทีมตรวจสอบ 4. การใช้วิจารณญาณเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพสอบบัญชี และ 5. ความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชี


           
นอกจากนี้ ก่อนการตัดสินใจเลือกสำนักงานสอบบัญชีใด คณะกรรมการตรวจสอบควรขอผลการตรวจระบบการควบคุมคุณภาพสำนักงานสอบบัญชี หรือที่เรียกว่า Firm Report ของสำนักงานสอบบัญชีที่จะคัดเลือกมาประกอบการพิจารณา เนื่องจาก Firm Report นี้ จะแสดงให้เห็นว่า สำนักงานสอบบัญชีนั้นมีระบบควบคุมเป็นอย่างไร ซึ่ง Firm Report นี้ ประเมินโดย ก.ล.ต. จึงเป็นตัวช่วยที่ดีให้คณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งท่านสามารถขอจากสำนักงานสอบบัญชีได้โดยตรง 

           ถ้าคณะกรรมการตรวจสอบได้ใช้แนวทางนี้เป็นตัวช่วยในการคัดเลือกผู้สอบบัญชี ก็คาดว่า จะทำให้ผู้สอบบัญชีที่ดี และสามารถให้เหตุผลที่เหมาะสมและเป็นที่น่าเชื่อถือกับผู้ถือหุ้นได้ แต่คณะกรรมการตรวจสอบต้องไม่ลืมว่า ผู้สอบบัญชีที่จะคัดเลือกมาจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. และ สังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่มีระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีตามที่กำหนด  รวมถึงต้องมีการเปลี่ยนผู้สอบบัญชีเมื่อครบ 7 ปี และเว้นวรรคผู้สอบบัญชีรายเดิม 5 ปีด้วย

เมื่อผู้สอบบัญชีเข้าปฏิบัติงานแล้ว คุณภาพงานสอบบัญชีจะเกิดขึ้นเมื่อคณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติงานร่วมกับผู้สอบบัญชีในการสอบทานรายงานทางการเงินให้มีความถูกต้องและเพียงพอ ซึ่งคำแนะนำสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบในการทำหน้าที่นี้ ก.ล.ต. ได้จัดทำ “แนวคำถามที่คณะกรรมการตรวจสอบอาจสอบถามผู้สอบบัญชีเพื่อประโยชน์ในการสอบทานบัญชี”  ไว้

            ความน่าสนใจของเอกสารนี้คือ มีการนำเสนอทั้งกรณีการสอบทานงบการเงินปกติ กรณีที่กรรมการตรวจสอบต้องการลงรายละเอียดในเรื่องที่เกี่ยวกับรายการระหว่างกิจการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกันและกรณีที่กรรมการตรวจสอบต้องการลงรายละเอียดในรายการธุรกิจที่สำคัญของบริษัท ซึ่งในแต่ละกรณียังให้คำแนะนำตั้งแต่ขั้นตอนของการวางแผนและขั้นตอนการสอบทานงบการเงินเป็นรายไตรมาสและประจำปี

            นอกจากสองบทบาทที่กล่าวแล้ว คณะกรรมการตรวจสอบสามารถช่วยส่งเสริมให้เกิดคุณภาพงานสอบบัญชีได้อีกหลายบทบาท ซึ่ง IOD ขอสนับสนุนให้ท่านได้ศึกษา “รายงานองค์กรคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (IOSCO) ว่าด้วยแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบในการเพิ่มคุณภาพงานสอบบัญชี” ซึ่ง ก.ล.ต. ได้แปลเป็นภาษาไทยไว้ให้แล้ว

              ส่วน IOD กำลังเตรียมเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสำนักงานสอบบัญชีและค่าสอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียนไทย เช่น บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ใช้บริการสำนักงานสอบบัญชีใด ค่าสอบบัญชีเป็นอย่างไร มีความแตกต่างตามขนาดหรือประเภทอุตสาหกรรมอย่างไร รวมถึง IOD ยังมีแผนที่จะปรับปรุงคู่มือกรรมการตรวจสอบด้วย อยากให้ทุกท่านติดตาม IOD อย่างต่อเนื่อง รับรองว่าไม่พลาดข้อมูลดี ๆ แน่นอน

 

LINK ข้อมูล

แนวทางสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบในการพิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชี

แนวคำถามที่คณะกรรมการตรวจสอบอาจสอบถามผู้สอบบัญชีเพื่อประโยชน์ในการสอบทานบัญชี

แนวปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบในเรื่องการหมุนเวียนผู้สอบบัญชี

รายงานองค์กรคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นานาชาติ (IOSCO) ว่าด้วยแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบในการเพิ่มคุณภาพงานสอบบัญชี

 

 

 

 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand