Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
GRI Standards มาตรฐานโลก มาตรฐานเรา

 

Global Reporting Initiative หรือ GRI เป็นองค์กรอิสระที่ได้รับการก่อตั้งโดยสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ในปี 1997(1) ทำหน้าที่พัฒนาและเผยแพร่กรอบการรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ที่ได้รับความนิยมในระดับสากล เนื่องจาก GRI มีการกำหนดตัวชี้วัดที่ไม่ซับซ้อนและง่ายต่อการทำความเข้าใจ เหมาะสำหรับบริษัททุกประเภท ทุกขนาด และทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการสื่อสารแก่กลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย โดยรายงานแยกกันระหว่างผลประกอบการ (Financial Performance) และผลการดำเนินงานทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Non-Financial Performance)

GRI Guidelines ฉบับแรก (G1) ได้ถูกจัดทำในปี 2000 และมีการนำไปใช้ในปีถัดมา ตั้งแต่ได้รับการนำไปใช้ GRI Guidelines มีการพัฒนาและปรับปรุงเนื้อหาที่มีสาระสำคัญอย่างสม่ำเสมอ การปรับปรุงเนื้อหาครั้งล่าสุด GRI Guidelines 2021 (G4)(2 ) มีขึ้นในปี 2021 และนำมาใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2023 เนื้อหา G4แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. GRI Universal Standards เป็นมาตรฐานที่เกี่ยวกับหลักการและการเปิดเผยข้อมูล, 2. GRI Sector Standards เป็นมาตรฐานที่กำหนดเฉพาะบาง sector, และ 3. GRI Topic Standards เป็นกรอบของข้อมูลหรือส่วนประกอบที่จะต้องเปิดเผยในแต่ละประเด็น 

สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai IOD) มุ่งส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสและเชื่อถือได้แก่ผู้มีส่วนได้อย่างมีมาตรฐานเป็นไปตามกรอบการรายงานระดับสากล ทั้งนี้ Thai IOD เชื่อมั่นว่ามาตรฐาน GRI จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้บริษัทจดทะเบียนสามารถเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนอย่างมีมาตรฐาน เพื่อสร้างความไว้วางใจ และความน่าเชื่อถือแก่ผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งบริษัทสามารถนำ GRI Guidelines มาปรับใช้ในการวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ 2 รูปแบบคือ 1. In Accordance คือการใช้ตามแบบมาตรฐานของ GRI และ 2. With Reference คือการนำมาตรฐานไปอ้างอิง

การนำมาตรฐาน GRI มาใช้สามารถสร้างประโยชน์แก่บริษัททั้งในมิติภายใน เช่น การเชื่อมโยงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของบริษัทให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน รวมถึงทำให้มีผู้สนใจที่จะมาร่วมทำงานหรือเป็นพนักงานในองค์กร ส่วนมุมมองจากภายนอกบริษัท ทำให้เกิดการสร้างความไว้วางใจ, ความเคารพ, และชื่อเสียงแก่บริษัท

จากผลสำรวจการรายงานความยั่งยืนประจำปี 2022 โดยบริษัท KPMG(3) พบว่าบริษัทที่มีรายได้สูงสุดหนึ่งร้อยบริษัทแรกในประเทศไทย มี 97 บริษัทที่มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน แสดงให้เห็นว่าบริษัทในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการสื่อสารการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และสะท้อนภาพลักษณ์ของการดำเนินธุรกิจในระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบ ที่ผ่านมาบริษัทในประเทศไทยจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนในรูปแบบที่แตกต่างกัน แม้ว่าบริษัทจะอยู่ในประเภทเดียวกัน ขนาดทางการตลาดใกล้เคียงกัน หรือแม้กระทั่งดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามประเด็นที่บริษัทต้องการจะสื่อสารโดยไม่มีรูปแบบในการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียและนักลงทุนเกิดความสับสนและยากต่อความเข้าใจ จนอาจส่งผลต่อการพิจารณาตัดสินลงทุน ยิ่งไปกว่านั้นรายงานความยั่งยืนส่วนมากยังเป็นการสื่อสารเพียงประเด็นที่เป็นผลกระทบเชิงบวก (Positive Material Issues) แต่เพียงด้านเดียว ซึ่งไม่สามารถสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business) ได้อย่างแท้จริง

มาตรฐาน GRI เป็นกรอบการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนที่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตรวจสอบ (Checklist) ช่วยให้บริษัทระบุศักยภาพด้านความยั่งยืนทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการกำหนดหัวข้อที่เป็นสาระสำคัญ (Material topics) จากผลกระทบที่มีนัยสำคัญที่บริษัทสร้างขึ้นต่อ ห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ด้วยหลักการ Double Materiality ผ่านการประเมินผลกระทบจากปัจจัยภายนอกบริษัท (Outward Impact) และผลกระทบจากภายในบริษัท (Inward Impact) ว่าบริษัทส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไร และบริษัทจะได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไรในอนาคต

การจัดทำรายงานความยั่งยืนจึงควรเป็นการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เป็นกระบวนการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่มุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลอย่างมีคุณภาพ ประมวลความเสี่ยงด้าน ESG ที่สะท้อนถึงการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัท เพื่อทำให้บริษัทสามารถกำหนดเป้าหมายในการปรับปรุงกิจกรรมที่ส่งผลกระทบในเชิงลบ และกำหนดเป้าหมายในการพัฒนากิจกรรมที่ส่งผลกระทบเชิงบวก นำไปสู่การลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ในระยะยาวบริษัทจะสามารถประหยัดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

ดังนั้น การจัดทำรายงานความยั่งยืนอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกันนอกจากจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่ตอบสนองต่อความสนใจของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ยังสามารถช่วยให้บริษัทดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม และหากทุกบริษัทร่วมกันลดผลกระทบเชิงลบและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เพิ่มขึ้นทีละเล็กละน้อย เมื่อรวมกันแล้วย่อมส่งผลกระทบอย่างมหาศาลที่ช่วยพื้นฟูภาวะโลกรวน (Global Turbulence)(4) ของเราได้อย่างแน่นอน

 

อ้างอิงข้อมูล
1. รายงานการพัฒนาความยั่งยืนตามกรอบ GRI : กุลชุดา ดิษยบุตร และ อุรศา ศรีบุญลือ : สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ : https://www.ftpi.or.th/wp-content/uploads/2022/03/GRI-Standards-2021.pdf
2. Time line of GRI History : Global Reporting Initiative : https://www.globalreporting.org/about-gri/mission-history
3. Big shifts, small steps : KPMG Survey of Sustainability Reporting 2022, KPMG International, September 2022 (P.14) : https://assets.kpmg.com/content/dam/kpmg/xx/pdf/2022/10/ssr-executive-summary-small-steps-big-shifts.pdf
4. ภาวะโลกรวน ส่งผลทำให้โลกร้อนและก่อให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม : https://greendigitallibrary.deqp.go.th/news/detail/631

กีรติ คงสมาน
Analyst - R&D Management & Advocacy
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand