Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
บันไดขั้นแรก ในการสร้าง “ความพร้อม” และ “ความมั่นใจ” ให้กับกรรมการ

 

ถ้าพูดถึง STARK หลายคนคงจะนึกถึง “Stark Industries” ที่มี CEO สุดเท่ ชื่อ โทนี่ สตาร์ค ที่สวมบทบาทโดย โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ในภาพยนตร์ชื่อดัง หรือที่รู้จักกันในนาม “ไอรอนแมน” ของจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล..........แต่สำหรับช่วงเวลานี้ ถ้าพูดถึง STARK คงไม่มีเรื่องใดฮอตร้อนแรงไปกว่า “บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น” ที่มีชื่อย่อหลักทรัพย์ว่า “STARK” ที่มีธุรกิจหลักเป็นการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ขณะที่บริษัทย่อยเป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิล รวมทั้งธุรกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคล เมื่อเร็ว ๆ นี้ STARK สร้างข่าวเซอร์ไพรส์นักลงทุนในหุ้นไทยอยู่พอสมควร ด้วยการแจ้งข่าวสำคัญ กรณีกรรมการลาออกจำนวน 7 ท่าน และการแต่งตั้งกรรมการใหม่แทนกรรมการที่ลาออกจำนวน 5 ท่าน การเปลี่ยนแปลงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การยกเลิกตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ และแต่งตั้งรักษาการเลขานุการบริษัท และการเลื่อนกำหนดส่งงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ล่าช้ากว่าที่กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ ไปเป็นราวเดือนพ.ค. – มิ.ย. 2566 ซึ่งถือเป็นการเลื่อนครั้งที่ 3 ตั้งแต่ครบกำหนดส่งงบการเงินดังกล่าว

ในข่าวระบุว่า STARK ปรับโครงสร้างของคณะกรรมการลดลงเหลือจำนวน 6 คน โดยเป็นกรรมการใหม่จำนวน 5 คนเข้ามาแทนที่และเริ่มปฏิบัติหน้าที่โดยทันที มีเพียง 1 ท่าน คือ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ยังเป็นกรรมการท่านเดิม โดยได้เข้าดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท และได้แสดงความประสงค์ที่จะดูแลแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วง โดยพร้อมส่งงบการเงินภายใน พ.ค.- มิ.ย. 2566 นี้ บทความนี้มิได้จะตีแผ่หรือเจาะประเด็นใด ๆ เกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ แต่ในมุมของการกำกับดูแลกิจการแล้ว มีเรื่องน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะสามารถหยิบยกและนำมาพูดคุยกันได้ ก็คือ การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ที่โดยปกติแล้วกรรมการแต่ละท่านจะผ่านกระบวนการสรรหามาเป็นอย่างดี จนได้มาซึ่งกรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสม อย่างไรก็ตาม มีเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นบันไดขั้นแรก ในการสร้าง “ความพร้อม” หรือ “ความมั่นใจ” ในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับกรรมการได้ คือ การกำหนดนโยบายอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรในการจัดให้มี “กิจกรรมปฐมนิเทศกรรมการเข้าใหม่” (New Director Orientation) โดยอาจบรรจุอยู่ในนโยบายกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance Policy) กฎบัตรคณะกรรมการ (Board Charter) หรือนโยบายอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เพราะไม่ว่ากรรมการจะลาออกกี่ท่าน ไม่ว่ากรรมการใหม่ท่านนั้นจะมีประสบการณ์เป็นกรรมการบริษัทมาก่อนหรือไม่ก็ตาม หากกรรมการที่เข้ามารับตำแหน่ง ปรับตัวได้เร็วที่สุด และทราบข้อมูลสำคัญของบริษัททั้งหมดได้โดยเร็วจะเป็นเรื่องที่ดีต่อบริษัท เพราะความรับผิดชอบของกรรมการท่านใหม่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบริษัทต้องการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

การปฐมนิเทศกรรมการเข้าใหม่นั้นถือเป็น “กระบวนการต่อเนื่อง” มิใช่การดำเนินการแบบ “ครั้งเดียวจบ” แนวทางการปฏิบัติที่ดีจึงพิจารณากรอบแนวคิดให้กระบวนการปฐมนิเทศกรรมการใหม่ แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ 1) ช่วงการศึกษาด้วยตนเอง ในช่วงที่มีการเรียนเชิญบุคคลเข้ารับตำแหน่งจนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ เพื่อนำส่งข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ต่อบุคคลดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเข้าใจในรูปแบบของกิจการ 2 ) ช่วงจัดกิจกรรมปฐมนิเทศอย่างเป็นทางการ คือ การได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับบุคลากรท่านอื่นๆ ในองค์กร เพื่อนำเสนอข้อมูลสำคัญ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตอบคำถามในประเด็นที่กรรมการใหม่อาจยังมีข้อสงสัย 3) ช่วงหลังการเข้ารับตำแหน่ง เพื่อให้มั่นใจว่ากรรมการใหม่ได้รับการพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง เข้าใจในกระบวนการทำงานของคณะกรรมการ ตลอดจนสามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างราบรื่น

การปฐมนิเทศกรรมการ นับเป็นกระบวนการสำคัญที่เปิดโอกาสให้กรรมการท่านใหม่ได้ทำความเข้าใจถึงประวัติความเป็นมา วัตถุประสงค์ และเป้าหมายหลักของกิจการ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญในการทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกกรรมการด้วยกันอีกด้วย ดังนั้น คณะกรรมการจึงควรให้ความสำคัญและกำหนดให้การปฐมนิเทศเป็นกิจกรรม “ภาคบังคับ” (Mandatory) ของกรรมการเข้าใหม่ทุกท่าน โดยผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานในเรื่องดังกล่าวโดยทั่วไป คือเลขานุการบริษัท และ/หรือประธานคณะกรรมการสรรหา อีกทั้งบริษัทยังสามารถขยายผลกิจกรรมปฐมนิเทศกรรมการ เช่น จากการที่คณะกรรมการได้เห็นซึ่งคุณสมบัติ (Profile) ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ตลอดจนจุดแข็ง-จุดอ่อนต่าง ๆ ของกรรมการท่านใหม่ ผ่านการสนทนา แลกเปลี่ยนทรรศนะมุมมองระหว่างกัน พึงนำเอาคุณสมบัติของแต่ละท่านนั้นมาบรรจุอยู่ใน Board Skill Matrix เพื่อให้ได้ภาพที่เป็นปัจจุบัน ตลอดจนใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อวิเคราะห์สิ่งที่ยังขาด (Gap Analysis) และไปใช้ในแผนการพัฒนากรรมการรายบุคคล (Individual Director Development Plan) ได้อีกในอนาคต

ศรีสุนันท์ อนุจรพันธุ์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ
สถาบันกรรมการบริษัทไทย

• ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการเกี่ยวกับการปฐมนิเทศกรรมการเข้าใหม่
• คำแนะนำสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการให้ข้อมูลหรือจัดเตรียมกิจกรรมปฐมนิเทศกรรมการใหม่
รายการเอกสารเบื้องต้นที่จำเป็นสำหรับกรรมการใหม่

====================================================================
แหล่งข้อมูล :
www.set.or.th
เกิดอะไรขึ้น ? STARK ล้างบาง
thestandard.co/stark-stock/
วิกิพีเดีย

 

 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand