Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
ความสำคัญของ CG Committee ในปัจจุบัน

               ทั่วโลกต้องประสบปัญหากับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินมาหลายครั้งในอดีต  วิกฤตการณ์หลายอย่างลุกลามส่งผลมายังประเทศไทยหรือบางครั้งประเทศไทยก็เป็นแหล่งกำเนิดเสียเอง  ดังเช่นวิกฤตที่คนไทยรู้จักกันดี “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” สาเหตุหลักมาจากการลงทุนที่เกินตัวจากภาคเอกชน สถาบันการเงินไม่ควบคุมความเสี่ยงในด้านสินเชื่ออย่างเหมาะสม เมื่อฟองสบู่แตก  บริษัทหลักทรัพย์และธนาคารจำนวนมากต้องล้มละลาย ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน  

ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจึงให้ความสนใจกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพิ่มมากขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลและภาคเอกชน  แต่ถึงแม้ว่าทุกส่วนจะให้ความสำคัญในด้าน CG เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาระดับประเทศอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล คือ การทุจริตคอร์รัปชัน

 ผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) ที่จัดทำโดย องค์กรโปร่งใสนานาชาติ (TI : Transparency International) ปี 2564 ประเทศไทย ถูกจัดอันดับอยู่ในลำดับที่ 110 จากทั้งหมด 180 ประเทศที่เข้าร่วมการประเมิน  ได้คะแนน 35 คะแนนจาก 100 คะแนนลดลงกว่าปี 2563 จนต้องจัดให้เป็นวาระของชาติเพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลกิจการอย่างโปร่งใส เปิดเผยได้ทั้งภาครัฐและเอกชน

คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ หรือ CG Committee (Corporate Governance Committee)        เป็นคณะกรรมการที่มีความสำคัญต่อบริษัทจดทะเบียนเป็นอย่างมากมากว่า 20 ปี คณะกรรมการชุดนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานและให้คำแนะนำต่างๆ ในการกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Policy) และจรรยาบรรณธุรกิจของบริษัท (Code of Conduct) ให้สอดคล้องกับกฎหมาย ข้อบังคับ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำกับดูแลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น และดูแลการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance)  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนให้บริษัทที่อยู่ในตลาดทุนไทยให้มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี โปร่งใสและตรวจสอบได้  นอกจากนั้นยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงาน CG และการต่อต้านคอร์รัปชั่น ในระดับประเทศด้วย

นอกจากหน้าที่ CG Committee ที่ต้องกำกับติดตามเรื่องบรรษัทภิบาลภายในองค์กรแล้ว  ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบด้าน สังคม สิ่งแวดล้อม ติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลกระทบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง จึงเกิดเป็นแนวคิดที่ว่าต่อไปการลงทุนในทุกๆภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น การผลิตหรือการบริการ จะต้องเป็นไปในแบบ responsible investment คือเป็นการลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governanceซึ่งถือเป็นเสาหลักของการเติบโตแบบยั่งยืน (Sustainable Growth)

ในปี 2022 ESG กลายเป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจถูกจับตามอง และสนใจเป็นอย่างมากทั้งจากบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุนทั่วโลก ปัจจัยทั้ง 3 ข้อจะถูกนำมา ชี้วัดความสามารถในการแสวงผลประโยชน์ระยะยาว (long-term gain) ของบริษัท นอกเหนือจากการพิจารณาจากตัวเลขทางการเงินอย่างเดียว ซึ่งการที่บริษัทนำหลัก ESG ปรับใช้เข้ากับแนวทางดำเนินธุรกิจ นอกจากจะเป็นการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัทแล้วยังมีส่วนช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินงานจึงควรนำเรื่อง ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางธุรกิจที่บริษัทกำลังดำเนินอยู่เป็นปกติ นอกเหนือการจัดทำเป็นกิจกรรมในลักษณะกิจกรรมหรือเป็นโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจ หลายบริษัทจึงมอบหมายเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่รวมถึงประเด็นด้าน ESG ให้เป็นหน้าที่คณะกรรมการ CG เพื่อติดตาม กำกับดูแล และรายงานให้คณะกรรมการบริษัททราบอีกชั้นหนึ่ง  เป็นแนวทางที่ชี้ให้เห็นว่าคณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังเพื่อพัฒนา เรื่อง ESG อันเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กรด้วย

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาด้าน ESG เป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่สำหรับบริษัทส่วนใหญ่  และบางครั้งยังไม่เห็นความเชื่อมโยงโดยตรงกับชื่อเสียง การเงิน หรือความเสี่ยงในระยะสั้น  แต่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และเป็นกระแสที่ประชาคมโลกต้องมีส่วนร่วมในการบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการปัญหาในเรื่อง ESG ดังกล่าว  ดังนั้นในทุกๆ บริษัทจึงควรมีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ  เพื่อช่วยให้การดำเนินงานเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น  คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการจึงนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของคณะกรรมการบริษัท 

นอกจากการจัดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการในโครงสร้างของคณะกรรมการแล้ว  คณะกรรมการชุดนี้ควรได้รับการพัฒนา ความรู้ ความเข้าใจ การจัดโครงสร้างและ/หรือแนวทางการกำกับดูแลกิจการตลอดจนกระบวนการและขั้นตอนภายใน เพื่อช่วยบูรณาการแนวทางของ  ESG ให้สอดคล้องกับกิจกรรมทางธุรกิจขององค์กรด้วย

 



จุฑามาศ เพิ่มพูล
ตำแหน่ง นักวิเคราะห์ CG
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand