Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการด้านการตรวจสอบกิจการ

  แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการด้านการตรวจสอบกิจการ

การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอันยากเกินจะคาดเดา ดังนั้น กิจการที่จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน จึงต้องมีพื้นฐานแข็งแกร่งและยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และการบริหารภายใต้กฎระเบียบ ตลอดจนมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องมีคณะกรรมการที่มีความรู้ ความสามารถ และสามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เป็นอย่างรอบด้าน

นอกจากการเป็นผู้นำองค์กรที่ดีแล้ว คณะกรรมการยังต้องมีหน้าที่กำกับดูแลให้กิจการดำเนินไปตามกลยุทธ์ นโยบาย และแผนธุรกิจที่กำหนดไว้จนลุล่วง โดยจัดให้มีกลไกในการ “ตรวจสอบกิจการ (Audit) ที่มีประสิทธิภาพ รัดกุม และเป็นอิสระ เพื่อให้มั่นใจว่า “ระบบควบคุมภายใน” ขององค์กรมีความเพียงพอ เหมาะสม ตลอดจนมีกระบวนการในการเปิดเผยข้อมูลที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการจัดทำ “รายงานทางการเงิน” ที่ถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้ และทันต่อเวลา

ดังนั้น สถาบันฯ จึงเห็นควรให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้คณะกรรมการได้ตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทหน้าที่ของตนในการตรวจสอบกิจการ ตลอดจนสามารถใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาแต่งตั้งและมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบไปยัง “คณะกรรมการตรวจสอบ” (Audit Committee) ได้อย่างเหมาะสม โดยเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในเอกสารนี้จะนำเสนอเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. หลักการสำคัญ (Key Principles) และ 2. แนวปฏิบัติ (Guidelines)

หลักการสำคัญ (Key Principles) ของแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ประกอบด้วย

1.       คณะกรรมการมีหน้าที่สอดส่องดูแลองค์กรให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยกำหนดให้ฝ่ายจัดการและพนักงานเป็นผู้รับผิดชอบต่อการวางแผนและการดำเนินธุรกิจภายใต้การบริหารความเสี่ยงและ “การควบคุมภายใน” ที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนคำนึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม

2.       คณะกรรมการพึงกำกับดูแลให้มั่นใจว่า กิจการมีกลไกในการ “ตรวจสอบกิจการ” (Audit) ที่มีประสิทธิผลและรัดกุม สำหรับใช้ประเมินถึงความเพียงพอ เหมาะสมของแนวทางการควบคุมภายในดังกล่าว อันประกอบไปด้วย

2.1       กลไกในการตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วน เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของรายงานทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล

2.2       กลไกในการประเมินความเพียงพอของระบบการควบคุมภายในและระบบการตรวจสอบภายใน

2.3       การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ กฎหมาย หรือข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

2.4       กรอบและกระบวนการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ

2.5       กระบวนการพิจารณาคัดเลือก เสนอ แต่งตั้ง และเสนอค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีที่เหมาะสม

2.6       กระบวนการที่เหมาะสมในการสอบทานรายการที่เกี่ยวโยงกันหรือรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์

3.     คณะกรรมการมีหน้าที่แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบ” ขึ้นมาเป็นคณะกรรมการชุดย่อยอีกคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งเป็น “กรรมการอิสระ” ทั้งหมด เพื่อทำหน้าที่แบ่งเบาและสนับสนุนคณะกรรมการในการกำกับดูแลกลไกการตรวจสอบกิจการดังกล่าว

4.   คณะกรรมการพึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่มีความรู้และความสามารถเหมาะสมกับบริบทขององค์กร สอดคล้องตามกฎเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ จากผู้บริหารหรือกลุ่มที่มีผลประโยชน์อื่นใด เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยคณะกรรมการควรเสริมสร้างความรู้และทักษะในการปฏิบัติหน้าที่แก่คณะกรรมการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

5.       คณะกรรมการพึงดูแลให้มั่นใจว่า คณะกรรมการตรวจสอบสามารถอุทิศเวลาของตนได้อย่างเหมาะสม เพียงพอ ในการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจนครบถ้วน สมบูรณ์ โดยคณะกรรมการพึงให้การสนับสนุนด้านงบประมาณและบุคลากรแก่คณะกรรมการตรวจสอบอย่างเพียงพอ ตลอดจนการว่าจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องได้เมื่อมีความจำเป็น เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6.     คณะกรรมการสามารถมอบหมายงานให้คณะกรรมการตรวจสอบได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตรวจสอบด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ งานที่มอบหมายต้องไม่ทำให้ขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระของกรรมการตรวจสอบ

7.     คณะกรรมการควรกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบ อย่างน้อยไตรมาสละ 1ครั้ง และรายงานสรุปผลที่ได้จากการประชุมนั้นให้คณะกรรมการทราบทุกไตรมาส โดยอาจบรรจุประเด็นสำคัญที่พบจากการตรวจสอบ และการขอเข้าหารือปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขให้ทันเวลา

8.     คณะกรรมการควรได้รับรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบในรอบปี และเปิดเผยผลการปฏิบัติงานนี้ในรายงานประจำปีด้วย

ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนของแนวปฏิบัติ (Guidelines) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

 

  



Best Practices Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand