Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
Thinking Holistically, Growing Sustainably คุยเรื่อง GRC… ในวิถีของ “กรรมการ”

เป็นที่ทราบกันดีว่า... คณะกรรมการนั้นมีบทบาทสำคัญที่จะต้อง “กำกับดูแล” องค์กรให้ดำเนินธุรกิจไปตามวัตถุประสงค์ วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ ทั้งยังต้องดูแลให้สอดรับกับ “ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้” (Risk Appetite) ตลอดจนหมั่นแสวงหาโอกาสที่จะสร้าง “คุณค่าเพิ่ม” หรือประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนแทบตามไม่ทัน (ซึ่งบางองค์กรก็ตามไม่ทันจริงๆ จนล้มหายตายจากไป... ก็มีให้เห็นอยู่มาก)


อย่างไรก็ตาม “เป้าหมายสูงสุด” ของกรรมการในการทำหน้าที่กำกับดูแลนั้น ไม่ใช่เพื่อให้องค์กรอยู่รอดไปวันๆ และสามารถข้ามผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากเรื่องหนึ่งเรื่องใดไปได้เท่านั้น หากแต่ต้องทำให้องค์กรเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน (Grow Sustainably) ในระยะยาวด้วย ...พอกล่าวถึงตรงนี้ คำถามที่ตามมาในทันที ก็คือ “การเติบโตอย่างยั่งยืน” ที่ว่านั้น ...มันมีลักษณะอย่างไร?

คำตอบคือ... องค์กรจะต้องมีเป้าหมาย / กลยุทธ์ / ทิศทางการดำเนินงานที่ “รู้เท่าทัน” การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ตลอดจน “เข้าใจ” ความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่แค่ลูกค้า หากแต่ยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มอื่นๆ ตลอดจนชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย (ESG) และเมื่อถึงเวลาที่ฝ่ายจัดการต้องรับเป้าหมาย / แผนกลยุทธ์เหล่านั้นไปปฏิบัติ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องเจออุปสรรคขวากหนามสารพัด (หรือที่เรียกกันว่า “ปัจจัยเสี่ยง”) ที่พร้อมจะมาทำให้การดำเนินงานตามแผนเหล่านั้นไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วาดหวังไว้ ...จึงเป็นที่มาว่าทำไมองค์กรต้องมีระบบควบคุมความเสี่ยงที่ดี ซึ่งต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กับการติดตามดูแลให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นสอดรับกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ แนวปฏิบัติสากล และมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถ “ตัดไฟเสียแต่ต้นลม” ก่อนที่จะลุกลามบานปลายจนยากเกินจะแก้ไข

มาถึงจุดนี้ ท่านกรรมการคงเริ่ม “เห็นภาพ” แล้วว่า… องค์ประกอบสำคัญ (อย่างน้อย) 3 ประการที่จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้น ก็คือ การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ (Risk Management) และการตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย / ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง (Compliance) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็ได้ถูกพัฒนาต่อยอดในเวลาต่อมาโดยองค์กรที่มีชื่อว่า Open Compliance and Ethics Group (OCEG) จนกลายเป็น “ปรัชญา” ในการบริหารองค์กรยุคใหม่ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า GRC นั่นเอง

เชื่อว่ากรรมการหลายท่านคงไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับแนวคิดนี้เท่าใดนัก เพราะ 3 กลไก / ระบบงานดังกล่าวย่อมมีอยู่แล้ว (ไม่มากก็น้อย) ในองค์กร แต่อาจจะสงสัยเสียมากกว่าว่า... “แล้วมันแตกต่างอะไรจากสิ่งที่องค์กรมีอยู่ หล่ะ?” ...คำตอบคือ จุดมุ่งเน้นของแนวคิด GRC นี้ มิได้อยู่ที่การ “จัดให้มี” ระบบงานดังกล่าว หากแต่มุ่งเน้นให้ระบบงานเหล่านั้น ถูกบริหารจัดการให้ดำเนินไปอย่างสอดประสานกันจนเกิด “บูรณภาพ” (GRC Integration) ต่างหาก

จุดนี้ถือเป็น “Pain Point” สำคัญของหลายองค์กร ...ที่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ธุรกิจก็มีขนาดใหญ่ขึ้นตาม หลายส่วนงานเริ่มถูกแยกตัวออกไปเป็นเอกเทศเพื่อให้สามารถบริหารจัดการเรื่องนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่ รูปแบบการดำเนินงานดังกล่าวอาจทำให้วัฒนธรรมการทํางานแบบ “ต่างคนต่างทํา” (Silo) เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ตัว ...ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ระบบงาน / กระบวนการทางธุรกิจมีความซ้ำซ้อน ขาดประสิทธิภาพ และความคล่องตัว ทั้งยังสร้างค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มโดยไม่จำเป็น ทำให้กิจการสูญเสียทรัพยากรที่มีอยู่ไปอย่างน่าเสียดาย

ในฐานะกรรมการ... ท่านเคยถามตัวเองไหมว่า ท่านจะสอดส่องดูแลให้องค์กรปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ / ข้อบังคับ มาตรฐานต่างๆ อย่างครบถ้วน (C) ได้อย่างไร หากท่านปราศจากความเข้าใจในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (G) และท่านจะกำกับดูแลกิจการของท่าน ตลอดจนกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ที่เหมาะสมได้อย่างไร หากท่านมองไม่เห็นถึงความเสี่ยงสำคัญๆ ที่องค์กรของท่านเผชิญอยู่ (R) …เห็นไหมครับว่ามันโยงใย ร้อยเรียง และเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันอยู่... และนี่คือ “คำตอบ” ว่าทำไมการบูรณาการส่วนงานทั้งสามนี้ภายในองค์กร ...จึงมีความสำคัญ และจำเป็น “ต้องทำ”

ส่วนเรื่องที่ว่าจะ “ทำอย่างไร” ให้ส่วนงานต่างๆ ข้างต้นเกิดการบูรณาการกันนั้น คงต้องอาศัยหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็น “บุคลากร” ที่จะต้องมีมุมมองแบบองค์รวม (Holistic View) เห็นความเชื่อมโยง / ผลกระทบของส่วนงานตนที่จะมีต่อส่วนงานอื่นๆ ...“กระบวนการ” ที่ชัดเจน มีระบบควบคุมที่ดี และถูกออกแบบมาให้สอดรับกัน ...ตลอดจน “เทคโนโลยี” ที่เข้ามาช่วยประมวลผล นำเสนอ และแลกเปลี่ยนสารสนเทศเพื่อให้เห็น “ภาพเดียวกัน” ทั่วทั้งองค์กร

หากท่าน (ในฐานะกรรมการ) สามารถกำกับดูแลให้กิจการมีการดำเนินงานตามแนวทางต่างๆ ข้างต้น จนเกิด “บูรณภาพ” ดังกล่าวได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ...เป้าหมายในการสร้าง “การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน” ให้แก่องค์กร ...คงเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

และขอฝากทิ้งท้ายเพื่อแจ้งข่าวบอกกล่าวไปยังกรรมการทุกท่านว่า... ขณะนี้ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้จัดทำ “แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการเกี่ยวกับการบูรณาการ GRC” ขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าว และเพื่อให้กรรมการได้ใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแล ตลอดจนร่วมกับฝ่ายจัดการในการประเมินว่ากลไก / ระบบงานภายในขององค์กรสอดรับกับแนวคิดการบูรณาการ GRC แล้วหรือยัง ...ซึ่งนับเป็น “ครั้งแรก” ของการจัดทำแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ ผ่าน “มุมมองกรรมการ” อย่างแท้จริง โดยท่านสามารถ Download เอกสารดังกล่าวได้ที่
https://forms.gle/Mf1Rv1vdfuzXMTy77 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อภิลาภ เผ่าภิญโญ
CG Supervisor – Research & Development
สถาบันกรรมการบริษัทไทย



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand