Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
จากสยามกัมมาจลสู่ SCBX: ข้อคิดเรื่อง Digital Transformation สำหรับคณะกรรมการในยุค Disruption

ข่าวใหญ่สะเทือนวงการในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นข่าวการ Transformation ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้ประกาศจัดตั้งบริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแม่ หรือ “ยานแม่” แบบ Holding Company เพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน SCB และผันตัวจากธุรกิจธนาคารสู่ “Financial Technology Group” อย่างเต็มตัวเพื่อให้เป็นอิสระจากข้อจำกัดของธุรกิจธนาคาร มีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถขยายธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการได้ โดย SCB ได้วางแผนสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มเพื่อรับมือกับการแข่งขันรูปแบบใหม่โดยยังมีธุรกิจธนาคารที่แข็งแรงขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และวางเป้าหมายเติบโตเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคที่มีฐานลูกค้า 200 ล้านคน สามารถสร้างมูลค่าจากธุรกิจใหม่ให้มีขนาด 1 ใน 3 จากเดิมที่ 90% ของกำไรทั้งหมดมาจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และมีมูลค่าตามราคาตลาดแตะ 1 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี

นายอาทิตย์ นันทวิทยา CEO ของ SCB ได้กล่าวถึงเหตุผลของ Transformation ครั้งใหญ่นี้ว่ามาจากปัจจัย Disruption ที่ธนาคารเริ่มสังเกตเห็นและพยายามปรับตัวเพื่อรับมือมาตั้งแต่ 6 ปีก่อน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกลายเป็นบริบทใหม่ของโลกอย่างชัดเจนมากขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในยุคก่อนและหลัง COVID-19 การขยายเข้ามาสู่ธุรกิจการเงินของกลุ่มธุรกิจ Non-bank เช่น สตาร์ทอัพฟินเทคและผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจากต่างประเทศ ตลอดจนกฎระเบียบข้อบังคับว่าด้วยธุรกิจการเงินที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ทั้งหมดจะทำให้ Business Model การเป็นตัวกลางเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารแบบดั้งเดิมไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดในที่สุด SCB จึงต้องเแปลงสภาพตัวเองเป็น SCBX “เพื่อให้บริษัทสามารถสร้างคุณค่าใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นและผู้บริโภค รวมถึงสามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้”

แม้การเปลี่ยนแปลงในระดับนี้จะดูเป็นเหตุเป็นผล เมื่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจอาจทำให้การดำเนินธุรกิจแบบเดิมไม่สามารถช่วยให้อยู่รอดและแข่งขันต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่มีให้เห็นบ่อยนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงธุรกิจการเงิน จึงเป็นที่น่าสนใจว่ากระบวนการพิจารณาหารือและตัดสินใจของคณะกรรมการ SCB เป็นอย่างไรจึงนำมาสู่กลยุทธ์ Digital Transformation ซึ่งเป็นการฉีกกรอบความเป็นธนาคารของ SCB ที่อยู่คู่ประเทศมายาวนานถึง 115 ปี

แน่นอนว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในห้องประชุมคณะกรรมการของ SCB เป็นเรื่องภายใน แต่ผลการตัดสินใจที่ประกาศออกมาสู่สาธารณชนก็ช่วยชี้ให้เห็นความสำคัญของบทบาทของคณะกรรมการในการทำงานร่วมกับฝ่ายจัดการเพื่อกำหนดกลยุทธ์และทิศทางขององค์กรเพื่อความอยู่รอดและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่พัฒนาการด้านเทคโนโลยีนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมการแข่งขันในแทบทุกอุตสาหกรรมและการมาถึงของปัจจัย Disruption ที่เป็นเสมือนตัวเร่งให้แต่ละธุรกิจต้องปรับตัวเช่นนี้ สิ่งที่คณะกรรมการควรเริ่มหารือร่วมกับฝ่ายจัดการจึงควรมีเรื่องกลุยทธ์ Digital Transformation อยู่ด้วย ซึ่งก็คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกระบวนการดำเนินงาน สินค้าและบริการ ไปจนถึงวิถีการดำเนินธุรกิจเพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขัน การตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย และสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม บทบาทในด้านนี้ก็อาจเป็นเรื่องที่คณะกรรมการส่วนใหญ่มองว่ายากด้วยความที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี และคำเช่น AI หรือ Big Data ตลอดจน Blockchain ก็อาจทำให้คณะกรรมการไม่มั่นใจว่าจะเริ่มต้นพูดคุยเรื่องการใช้เทคโนโลยีในมุมมองกลยุทธ์อย่างไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว หน้าที่ของคณะกรรมการใน Digital Transformation ไม่ใช่การทำความเข้าใจว่าเทคโนโลยีนั้นทำงานอย่างไร แต่เป็นการทำความเข้าใจว่าเทคโนโลยีนั้นสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจอย่างไรเพื่อที่จะสามารถแนะแนวและให้ความเห็นต่อฝ่ายจัดการในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างมูลค่าให้ธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย ถ้าคณะกรรมการเห็นความสำคัญของการเริ่มปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วยเทคโนโลยีเพื่อตอบรับกับความท้าทายแล้ว การพิจารณา 5 คำถามด้านล่างนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยให้คณะกรรมการมีส่วนร่วมในกลยุทธ์ Digital Transformation และกำกับดูแลให้กลยุทธ์ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น

1. เรามีความเข้าใจในประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากพอหรือยัง

ความรวดเร็วและความซับซ้อนของพัฒนาการด้านเทคโนโลยีอาจทำให้คณะกรรมการมองเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีต่อการเสริมศักยภาพการแข่งขันและสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ลำบาก ดังนั้น การเสริมความรู้และความเข้าใจในประโยชน์ต่อธุรกิจของเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ ทั้งที่มีอยู่และเพิ่งอุบัติขึ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะด้วยการจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาเป็นที่ปรึกษาให้กับคณะกรรมการ การอบรมให้ความรู้เพื่อให้เกิดมุมมองและความคิดริเริ่มเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เชิงกลยุทธ์โดยที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีภายนอกที่มีประสบการณ์การทำ Digital Transformation ให้กับธุรกิจมาก่อน ไปจนถึงอีกวิธีหนึ่งที่จะมีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ คือ การสรรหากรรมการใหม่ที่มีประสบการณ์ ความรู้ และความสามารถที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการด้านกลยุทธ์และทิศทาง Digital Transformation ของธุรกิจ เพื่อให้มีมุมมองที่จะช่วยให้ความเห็นและแนะแนวในเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ เพื่อให้ความเข้าใจในประโยชน์ของเทคโนโลยีตกผลึกเป็นกลยุทธ์ Digital Transformation ที่เหมาะสม คณะกรรมการควรจัดสรรเวลาให้เพียงพอกับการหารือและแลกเปลี่ยนเรื่องโอกาสและทิศทางการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่ากับฝ่ายจัดการโดยบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของวาระการประชุมอย่างสม่ำเสมอ

2. กลยุทธ์ Digital Transformation จะเปลี่ยนวิถีการสร้างมูลค่าของธุรกิจเราหรือไม่

แก่นของ Digital Transformation คือการนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างมูลค่า ซึ่งมูลค่าในบริบทของ Digital Transformation ที่คณะกรรมการควรให้ความสำคัญและหารือกับฝ่ายจัดการมีด้วยกันสามมุม คือ

1)    ขนาดของมูลค่า (Scale) เป้าหมายที่ธุรกิจมักคาดหวังให้ Digital Transformation บรรลุคือสัดส่วนของกำไรที่เพิ่มมากขึ้น แต่ขนาดของมูลค่าที่ตั้งเป้าไว้ควรใหญ่พอเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ดังเช่นกรณีของ SCB ที่ตั้งเป้าว่าขนาดรายได้ของธุรกิจใหม่จะต้องมีสัดส่วน 1 ใน 3 เพื่อลดการพึ่งพาธุรกิจธนาคารพาณิชย์ คณะกรรมการและฝ่ายจัดการจึงควรหารือถึงวิธีที่เทคโนโลยีจะช่วยเปลี่ยนแปลง Operating Model หรือเปลี่ยนแปลง Business Model ตลอดจนการก้าวไปสู่ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหม่เพื่อโอกาสในการสร้างมูลค่าธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย

2) ที่มาของมูลค่า (Source) ประโยชน์ของเทคโนโลยีที่เห็นได้ชัดและมักถูกนำมาหารือเป็นลำดับต้นๆ คือการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดต้นทุน แต่เทคโนโลยีก็ควรถูกมองในฐานะ “Game Changer” ที่จะช่วยสร้างมูลค่าให้ธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย ตลอดจนโอกาสใหม่ๆ เช่นกัน ดังนั้น คณะกรรมการควรสนับสนุนให้ฝ่ายจัดการตีโจทย์ให้แตกว่าสิ่งที่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของธุรกิจจริงๆ คืออะไร และกลยุทธ์ Digital Transformation จะช่วยต่อยอดความได้เปรียบทางการแข่งขันนั้นเพื่อนำไปสู่แหล่งรายได้ใหม่ในอนาคตอย่างไร

3)     ระยะเวลา (Scope) Digital Transformation ไม่สามารถเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว แต่เปรียบเสมือนการเดินทางที่ต้องใช้เวลาและเงินทุนจำนวนมากกว่าจะเดินทางไปถึงเป้าหมายและเห็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าตามที่คาดหวังไว้ คณะกรรมการและฝ่ายจัดการจึงควรมีความชัดเจนว่าเป้าหมายของมูลค่าที่ต้องการให้ Digital Transformation สร้างในระยะยาวคืออะไร และควรดูแลให้ฝ่ายจัดการมีการวางแผนงบประมาณค่าใช้จ่ายในระยะยาวที่จะเอื้อให้เกิดการสร้างมูลค่านั้นได้โดยไม่ลืมที่จะวิเคราะห์ถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงภายในอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นผลจากบทบาทของเทคโนโลยี ตลอดจนเส้นแบ่งระหว่างอุตสาหกรรมที่เริ่มหายไปในการวางแผนด้วย

3. เราจะรู้ได้อย่างไรว่า Digital Transformation จะได้ผลจริง

Digital Transformation อาจนำมาสู่โครงการและกิจกรรมมากมายซึ่งทำให้ติดตามดูแลได้ยากว่าการเปลี่ยนแปลงตามกลยุทธ์นั้นได้ผลตามเป้าหมายจริงหรือไม่ คณะกรรมการจึงควรกำกับดูแลให้กลยุทธ์ Digital Transformation มุ่งเน้นไปยังการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2-3 ด้านที่มีแนวโน้มจะสร้างมูลค่าให้ได้มากที่สุดเพื่อให้จัดสรรทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม รวมถึงกำหนดและตกลงกับฝ่ายจัดการในเรื่องตัวชี้วัดความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยควรครอบคลุมตัวชี้วัดสองกลุ่ม คือ ตัวชี้วัดนำที่ช่วยให้เห็นผลลัพธ์และมูลค่าที่เกิดขึ้น และตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นความคืบหน้าของ Digital Transformation ซึ่งอาจพิจารณาได้จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพฤติกรรมและกระบวนการปฏิบัติงาน เป็นต้น หลายบริษัทอาจเลือกที่จะไม่ใช้ ROI ในการติดตามผลการลงทุนด้านเทคโนโลยีหรือโครงการที่เกี่ยวข้องเพราะมองว่าเป็นการวัดผลที่ไม่ทันต่อเวลา แต่ ROI ก็มีความสำคัญในฐานะจุดอ้างอิงสำหรับการวัดความคืบหน้าของกลยุทธ์ Digital Transformation เช่นกัน

4. เรามองเรื่องทรัพยากรบุคคลสำหรับขับเคลื่อนกลยุทธ์ Digital Transformation อย่างครอบคลุมพอแล้วหรือยัง

เมื่อกล่าวถึงเรื่องทรัพยากรบุคคลจากมุมมองของคณะกรรมการ ความสนใจแรกน่าจะเป็นเรื่องการสรรหาผู้บริหารระดับสูงที่มีความสามารถและประสบการณ์เหมาะสมกับการขับเคลื่อนกลยุทธ์ Digital Transformation แต่การมองลึกลงไปถึงตัวบุคลากรที่เป็นผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะคนเหล่านี้คือกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนให้กลยุทธ์ดำเนินไปตามที่กำหนดไว้จริง ดังนั้น คณะกรรมการจึงควรดูแลให้ฝ่ายจัดการมีการวางแผนจัดหาและพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับกลยุทธ์ Digital Transformation ของธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่นอกจากการเสาะหาบุคลากรใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาแล้ว ก็ไม่ควรมองข้ามการพัฒนาบุคลากรเดิมให้มีทักษะและความรู้ที่เหมาะสมเพื่อให้ธุรกิจมีศักยภาพที่สอดรับการดำเนินกลยุทธ์ Digital Transformation ในทุกหน่วยงาน คณะกรรมการอาจแนะนำให้ฝ่ายจัดการระบุทักษะสำคัญและแผนสำหรับการจัดหาหรือพัฒนาบุคลากรในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้าเพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นรูปธรรม

5. เรารู้ชัดหรือไม่ว่าความเสี่ยงที่อุบัติขึ้นเป็นอย่างไร

โอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจาก Digital Transformation ย่อมตามมาด้วยความเสี่ยงแบบ Non-traditional ที่มีความซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อน ไม่ว่าจะจากภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือจากพัฒนาการของกฎหมายกฎเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีของธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความเป็นส่วนบุคคลของข้อมูล คณะกรรมการจึงต้องดูแลให้การบริหารจัดการความเสี่ยงขององค์กรครอบคลุมถึง Cybersecurity ไปจนถึง Data Privacy อย่างเพียงพอที่จะควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเอื้อให้ Digital Transformation ดำเนินไปได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการและฝ่ายจัดการยังควรมีมุมมองที่กว้างขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงในสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นผลมาจากผู้เล่นใหม่ เทคโนโลยีใหม่ และการเปลี่ยนย้ายอุตสหกรรมที่เกิดขึ้นได้เสมอ ดังเช่นที่ SCB กล่าวถึงการรุกเข้ามาสู่ธุรกิจการเงินของธุรกิจเทคโนโลยี นอกเหนือจากจับตาดูคู่แข่งโดยตรงของธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว ยังควรจับตาผู้เล่นในอุตสาหกรรมอื่นที่อยู่มาวันหนึ่งอาจก้าวเข้ามาทดแทนธุรกิจด้วย

แน่นอนว่าไม่ใช่คณะกรรมการของทุกบริษัทจะต้องกระตุ้นให้ฝ่ายจัดการสร้างยานแม่และผันตัวไปเป็นบริษัทเทคโนโลยีอย่าง SCB กลยุทธ์ Digital Transformation ของแต่ละบริษัทย่อมแตกต่างกันไปตามบริบทและความเหมาะสม ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในอุตสาหกรรมการเงินเองที่หลายธนาคารก็ได้มีการทำ Digital Transformation ด้านกระบวนการดำเนินงาน และจัดตั้งบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินหรือบริษัทลงทุนที่เน้นการร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพฟินเทคในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อนำมาสนับสนุนธุรกิจหลักของธนาคาร ตลอดจนตัวอย่างในอุตสาหกรรมอื่นที่จะเห็นได้เช่นกันว่าแต่ละบริษัทก็ตอบรับกับความท้าทายด้วยแนวทางที่แตกต่างกัน ไม่ว่า Digital Transformation จะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวไปสู่ Business Model ใหม่หรือธุรกิจหรืออุตสาหกรรมใหม่โดยสิ้นเชิง หรือเป็นการปรับปรุงศักยภาพการแข่งขันเดิมให้ดียิ่งขึ้นควบคู่ไปกับการสร้างศักยภาพการแข่งขันใหม่ที่จะสร้างความเติบโตต่อไปในอนาคต ที่สำคัญคือต้องสมดุลระหว่างการตอบรับกับปัจจัย Disruption ที่เกิดขึ้นและเป้าหมายในระยะยาว และแม้ Digital Transformation ต้องอาศัยเวลากว่าจะได้เห็นว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ แต่ความกล้าของคณะกรรมการที่จะเริ่มต้นก้าวแรกไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ธุรกิจ “สามารถเติบโตไปกับโลกใหม่ได้” ก็อาจจะดีกว่าการอยู่นิ่ง ไม่ว่าก้าวแรกนั้นจะเป็นก้าวเล็กหรือก้าวใหญ่อย่าง SCB ก็ตาม

 

ข้อมูลอ้างอิง:

·      ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

·      “5 Questions Boards Should Be Asking About Digital Transformation,” Celia Huber, Alex Sukharevsky, and Rodney Zemmel, Harvard Business Review (2021)

 

นางสาวจาร์รวี จีระมะกร
Senior CG Analyst – Curriculum and Facilitators
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

 

 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand