Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
Diversity in Business Report: Women Empowerment

Diversity in Business Report: Women Empowerment

 

จากสภาวะการณ์ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจกำลังถูกท้าทายจากความผันผวน ความไม่แน่นอน และความซับซ้อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลให้บทบาทของคณะกรรมการบริษัทมีความสำคัญและท้าทายมากขึ้นในการสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันเพื่อนำพาให้บริษัทบรรลุเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในระยะยาวรวมทั้งสร้างคุณค่าให้แก่กิจการและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

จากผลสำรวจของ National Association of Corporate Directors (NACD) 2019 ชี้ว่าความท้าทายต่างๆที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อความคาดหวังในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยร้อยละ 86 มองว่าคณะกรรมการและฝ่ายจัดการต้องทำหน้าที่ร่วมกันมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนองค์กร สร้างการเติบโตและพร้อมรับมือกับความเสี่ยงใหม่ๆที่อาจต้องเผชิญในอีก 5 ปีข้างหน้า รองลงมาร้อยละ 84 คาดหวังให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ ร้อยละ 73 มีความคิดเห็นว่าบทบาทความเป็นผู้นำของคณะกรรมการมีความท้าทายมากขึ้น และมองว่าการรับมือเพื่อให้ทันกับเปลี่ยนแปลงของธุรกิจก็ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการคือผู้ที่ถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ในการนำพาองค์กรก้าวผ่านความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตต่อไปได้ในสภาวะปกติหรือแม้แต่ประคับประคององค์กรให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆก็ตาม

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คณะกรรมการสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนองค์กรก้าวผ่านความท้าทายต่างๆไปสู่ความสำเร็จได้คือ การมีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่หลากหลาย หรือ Board Diversity ที่จำเป็นต่อการบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กร ทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ ความสามารถ คุณลักษณะเฉพาะด้าน เนื่องจากการมี Board Diversity จะช่วยให้คณะกรรมการในองค์รวมมีมุมมองที่หลากหลาย รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลในเชิงลึก เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันที่เป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ สาเหตุที่ทั่วโลกให้ความสำคัญประเด็นเรื่องความหลากหลายในคณะกรรมการมากขึ้นนั้น International Corporate Governance Network (ICGN) รายงานว่าอาจเป็นผลมาจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2008-2009 ที่คณะกรรมการบริษัทจำนวนมากถูกผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพราะสมาชิกคณะกรรมการไม่มีความเป็นอิสระ ขาดความหลากหลายทางความคิด ความเชี่ยวชาญ และมุมมอง จึงทำให้เกิดการคิดแบบกลุ่ม ไม่สามารถบริหารจัดการ หรือควบคุมดูแลความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพพอจนนำมาสู่ความล้มเหลวในการดำเนินธุรกิจในที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการกระตุ้นให้เกิดความหลากหลายภายในคณะกรรมการมากขึ้น หากลองพิจารณาองค์ประกอบที่จะส่งผลต่อความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของคณะกรรมการนั้นอาจแบ่งได้เป็น 2 องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบแรกคือความรู้และประสบการณ์ของกรรมการ (Knowledge and Experience) ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถพิจารณาได้จากประวัติการศึกษาและการทำงานก็สามารถรู้ได้ว่ากรรมการนั้นมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อย่างไร อีกองค์ประกอบหนึ่งคือความสามารถในการทำงานและคุณลักษณะส่วนบุคคล (Competencies and Personal attributes) ซึ่งเป็นสิ่งที่อาศัยเพียงแค่พิจารณาจากประวัติการทำงานเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอย่างไร แต่ต้องมาจากการรู้จักสไตล์การทำงาน รู้จักแนวคิด และบุคลิกลักษณะของกรรมการนั้นจากประสบการณ์ส่วนตัว หรือการใช้วิธีอื่นๆ เช่น สัมภาษณ์ ทำแบบประเมิน ซึ่งอาจเป็นส่วนเสริมในการพิจารณา และอาจกล่าวได้ว่าในตัวกรรมการหนึ่งคน มีสององค์ประกอบนี้ที่จะส่งผลต่อความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่

นอกจากความหลากหลายทางด้านความรู้ ประสบการณ์ และคุณลักษณะของกรรมการแล้ว ความหลากหลายของคณะกรรมการที่ได้รับความสนใจในระดับสากลประเด็นหนึ่ง คือ ความหลากหลายทางเพศ หรือ Gender Diversity โดยเฉพาะบทบาทของผู้หญิงในตำแหน่ง ผู้นำ”  ยังคงเป็นที่น่าสนใจและถูกจับตามองในหลายมิติ ซึ่งสอดรับกับทิศทางการขับเคลื่อนระดับโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ United Nations Thailand ในเป้าหมายที่ 5 เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ โดยผลวิจัยจากหลายหน่วยงานระบุว่า คณะกรรมการที่ประกอบด้วยกรรมการที่มีความหลากหลายทางเพศจะช่วยสร้างมูลค่าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทได้ นอกจากนี้ รายงานของ United Nations Development Programme (UNDP) ชี้ว่า บริษัทที่ผู้นำที่มีความหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มจะสร้างผลกำไรได้สูงกว่าค่าเฉลี่ย และผลการศึกษาที่ทำร่วมกันของ DDI the Conference Board และ Ernst & Young (EY) ระบุว่า การเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในระดับผู้นำจะทำให้บริษัทมีผลกำไรเติบโตขึ้นอย่างน้อยปีละ 1.4 เท่า

ขณะเดียวกัน ในประเทศไทยก็พบสัญญาณที่น่ายินดีด้วยการมีผู้นำที่เป็นกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจในตลาดทุนที่เป็นผู้หญิงในสัดส่วนที่สูงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มบทบาทผู้หญิงในคณะกรรมการบริหาร โดยระบุใน Corporate Governance Code (CG Code) เหมือนกับอีกหลายประเทศ
 

จากรายงาน Women in Business Report 2020 ของ Grant Thornton Thailand พบว่า ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจไทยที่เป็นเพศหญิงมีสัดส่วนร้อยละ 32 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของระดับโลก ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 27 และของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร้อยละ 26 นอกจากนั้น มีสถิติของบริษัทจดทะเบียนไทยระบุว่า จำนวนกรรมการของบริษัทจดทะเบียนไทยที่เป็นเพศหญิงมี 2,167 คน จาก 10,948 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของกรรมการทั้งหมด บริษัทจดทะเบียนไทยที่มีกรรมการเป็นเพศหญิงอย่างน้อยหนึ่งคนคิดเป็นประมาณร้อยละ 83 ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด และมีบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีผู้บริหารสูงสุดหรือ CEO ผู้หญิง มีจำนวน 104 แห่ง แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET 78 แห่ง และในตลาด mai 26 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 13.85 ของจำนวนบริษัททั้งหมดในตลาดทุน สะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทในฐานะ “ผู้นำ” ในโลกการทำงานมากขึ้น

ในกลุ่ม SET100 พบว่าร้อยละ 91 เป็นคณะกรรมการที่มีทั้งเพศชายและเพศหญิง โดยมี 9 บริษัทที่เป็นคณะกรรมการเพศชายเพียงอย่างเดียว และหากพิจารณาตามกลุ่มธุรกิจ กลุ่มที่มีกรรมการเพศชายอย่างเดียวสูงสุด 3 อันดับแรก คือ สินค้าอุตสาหกรรม (ร้อยละ 20) สินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 18) รวมถึง เทคโนโลยี (ร้อยละ 14) และ อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (ร้อยละ14)

เมื่อพิจารณาจากตัวเลขค่าเฉลี่ยของบริษัทในการประเมินจากโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (CGR) 2020 ของ IOD ตามกลุ่มธุรกิจ จะพบว่ากลุ่มสินค้าอุปโภคเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนกรรมการเพศหญิงมากที่สุด คือ โดยเฉลี่ยมีกรรมการเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 27 ของสมาชิกคณะกรรมการทั้งหมด


แม้บริษัทจดทะเบียนไทยจะมีความโดดเด่นมากในเรื่อง Gender Diversity เมื่อเทียบกับกลุ่มอาเซียน แต่การให้ความสำคัญและการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ผู้นำองค์กรที่เป็นผู้หญิงมีบทบาทอย่างแท้จริงในการร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเท่าทันและยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจมองข้ามได้ ในปีนี้สำนักงาน ก... มีแนวทางในการเชิญชวนให้บริษัทมีนโยบายให้โอกาสอย่างเท่าเทียมแก่ผู้หญิงในการพิจารณาสรรหาบุคคลเป็นกรรมการ รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นการกำหนดจำนวนกรรมการเพศหญิงไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนกรรมการทั้งหมดของบริษัท การส่งเสริมให้มีกรรมการเพศหญิงเพิ่มขึ้น จะช่วยให้องค์ประกอบของบอร์ดมีความหลากหลาย และการที่มีมุมมองความคิดหลากหลาย จะนำไปสู่การคิดและการตัดสินใจอย่างรอบคอบมากขึ้น ซึ่งแน่นอนจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัท ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ท่านกรรมการจะกลับมาคิดทบทวนถึงองค์ประกอบของบอร์ด ทั้ง 2 องค์ประกอบ คือความรู้และประสบการณ์ของกรรมการ (Knowledge and Experience) และความสามารถในการทำงานและคุณลักษณะส่วนบุคคล (Competencies and Personal attributes) ว่าองค์ประกอบของบอร์ดในอนาคตขององค์กรท่านหน้าตาจะเป็นอย่างไร ความรู้หรือประสบการณ์ด้านใดของกรรมการที่ท่านกำลังต้องการสรรหาเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กรในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อกรรมการเหล่านั้นจะนำพาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

Source:

·        Guidance on Diversity on Boards, International Corporate Governance Network (ICGN) (2016)

·        Global Leadership Forecast, Development Dimensions International (DDI) (2018)

·        Fit for the Future: An Urgent Imperative for Board Leadership, National Association of Corporate Directors (NACD) (2019)

·        Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2020, Thai Institute of Director (IOD)

·        Women in Business Report, Grant Thornton Thailand (2020)

·        Gender Diversity and Inclusion for a Fair Business, United Nations Development Programme, Environment (UNDP) (2021)

·        Women CEO Dialogue, ประชาชาติธุรกิจ (2564)

 

 นางสาววรัตนันท์  รัชมุสิกพัทธ์
Senior CG Analyst– Training and Facilitators
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand