Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
Putting Purpose Into Practice: The Board’s Role

Putting Purpose Into Practice: The Board’s Role

แนวคิดในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันที่ไม่ได้มุ่งไปที่การสร้างผลตอบแทนสูงสุดแก่เจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นแต่อย่างเดียว หากยังต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ภายใต้การดำเนินธุรกิจด้วยหลัก ESG ที่นำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ สิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลมาเป็นประเด็นหลักในการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร  อย่างไรก็ดี การนำประเด็นด้าน ESG มาผนวกเป็นกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนองค์กรมักประสบความสำเร็จอย่างไม่เต็มที่นัก เนื่องจากการขาดความเชื่อมโยงกับคนในองค์กร ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงได้เกิดแนวคิดที่องค์กรภาคเอกชนต่าง ๆ ได้มีการกำหนด Purpose องค์กรออกมาเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน ทำไมผู้นำบริษัทชั้นนำถึงให้ความสนใจกับ Purpose ในเมื่อองค์กรต่างมีการกำหนด Vision (วิสัยทัศน์) Mission (พันธกิจ) และ Value (ค่านิยม) เพื่อเป็นหลักยึดในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว การมีอยู่ของ Purpose จะซ้ำซ้อน หรือมีข้อแตกต่างอย่างไร และหากเมื่อกำหนด Purpose ออกมาแล้ว จะสามารถต่อยอดเพื่อนำแนวทางไปใช้สร้างคุณค่าทั้งต่อองค์กร และสังคมอย่างไร

จากคำถามที่ว่า Purpose สำหรับองค์กรนั้นหมายถึงอะไร ที่ผ่านมาได้มีการศึกษาจากหลายแหล่งถึงคำนิยามของคำนี้ ซึ่งสามารถสรุปใจความได้ว่า Purpose คือ สาเหตุของการดำรงอยู่ (Why the organization exists) และเมื่อบรรดานักลงทุนสถาบันระดับโลกได้เรียกร้องให้บริษัทมีการกำหนด Purpose ออกมาให้ชัดเจน อีกทั้งยังมีการลงนามให้คำมั่นจาก CEO บริษัทชั้นนำในยุโรปและอเมริกาจากบริษัท 181 แห่งในเรื่องดังกล่าว ทำให้การกำหนด Purpose ของ องค์กรได้กลายมาเป็นประเด็นที่สำคัญของกรรมการ แต่ก็ดูเหมือนว่าแนวทางในการนำ Purpose ที่เป็นหัวใจหลักที่สำคัญขององค์กรไปเชื่อมโยงต่อ ทั้งการนำมาใช้เป็นแกนในการตัดสินใจ ตลอดจนเป็นตัวกำหนดค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์องค์กร กลับไม่ได้มีการกล่าวถึงมากนัก จนเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา Enacting Purpose Initiative (EPI) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสถาบันการศึกษาชั้นนำและหน่วยงานภาคเอกชนได้ออกรายงานสำหรับกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง และนักลงทุนเพื่อเป็นแนวทางสำหรับองค์กรในการกำหนดแนวทางในการนำไปปฏิบัติและรายงานถึง Purpose องค์กร

ประเด็นที่ EPI ได้ให้ความสำคัญ คือ การให้ความชัดเจนในด้านความแตกต่างของ Purpose - Why the organization exists และคำอื่นๆที่ใช้กัน ที่ทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย นั่นก็คือ values mission และ vision

Purpose เป็นจุดตั้งต้นที่มาว่าทำไมบริษัทถึงได้เข้ามาประกอบการหรือดำเนินธุรกิจ ประเด็นในด้านใดที่องค์กรตั้งมาเพื่อทำให้เกิดขึ้น Why an organization exists

Value ใช้เพื่อสะท้อนถึง พฤติกรรมหรือแนวทางประพฤติของคนในองค์กร โดยมักมีการกำหนดในรูปแบบคำที่สั้นๆ จำง่ายและเข้าใจง่ายสะท้อนถึงพฤติกรรมที่องค์กรต้องการ-How an organization behave

Mission ใช้เพื่อบอกถึงสิ่งที่องค์กรทำ โดยนำไปเชื่อมโยงกับกลยุทธ์องค์กร และมีค่านิยมองค์กรมาช่วยเสริมเพื่อให้สามารถบรรลุพันธกิจองค์กรได้ โดยสรุปแล้ว การกำหนดพันธกิจจะเป็นการสื่อสารด้วยการบรรยายถึงสิ่งที่องค์กรจะสามารถดำเนินการเพื่อให้บรรลุ Purpose ขององค์กรได้ – What the organization does

Vision กำหนดเพื่ออธิบายถึงเป้าหมายที่องค์กรต้องการสร้างให้เกิดขึ้น กล่าวคือเป็นการกำหนดถึงผลแห่งความสำเร็จที่องค์กรต้องสร้างให้เกิดขึ้นจาก Purpose ที่ตั้งไว้ โดยทั่วไป การกำหนดวิสัยทัศน์มักเป็นเป้าหมายใหญ่และเป็นเป้าหมายในระยะยาว – Where the organization intends to have impact

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้นำองค์กรมีแนวทางในการติดตามดูแล Purpose ขององค์กรที่ได้กำหนดไว้ EPI จึงได้มีการออกแบบกรอบโครงสร้างเพื่อเป็นแนวทางในการกำกับดูแลให้ Purpose ที่วางไว้สามารถเกิดขึ้นจริงได้ โดยเรียกกรอบนั้นว่า SCORE โดยเป็นกรอบที่จะระบุถึงแนวทางในการขับเคลื่อนให้สามารถนำ Purpose ลงไปสู่ภาคปฏิบัติจริง ซึ่งมีองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังนี้

1.    SIMPLIFY กล่าวคือ การทำให้ Purpose นั้นเข้าใจได้ง่ายและยังสามารถจูงใจคนได้ โดย Purpose ที่ดีนั้นต้องทำให้พนักงานทั่วทั้งองค์กร กลุ่มบริษัทคู่ค้า และอีกทั้งผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ สามารถเข้าใจได้ ด้วยการกำหนดออกมาอย่างตรงประเด็นมากกว่าการกำหนดแบบกว้างๆ คลุมเครือ และควรเริ่มจากการวางหรือระบุถึงแก่นของ Purpose ว่าปัญหาอะไรที่องค์กรต้องการเข้ามาตอบโจทย์ โดย Purpose ที่ดีควรสร้างความมั่นใจได้ว่าทำไมองค์กรถึงเหมาะสมที่จะทำเรื่องนี้

2.    CONNECT เมื่อองค์กรสามารถเรียบเรียง Purpose ออกมาในรูปแบบที่เรียบง่าย เข้าใจได้ง่าย และมีความชัดเจนดีแล้ว สิ่งนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนถึงสิ่งที่องค์กรจะต้องดำเนินการ นั่นก็คือ การเริ่มกำหนดทิศทางกลยุทธ์และการเลือกที่จะใช้เงินทุนหรือทรัพยากรอื่นๆ ในกิจกรรมที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้ Purpose ที่กำหนดไว้กลายเป็นที่เชื่อถือและนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างจริงจังได้นั้น ในทุกการตัดสินใจที่สำคัญควรจะมีการนำเอา Purpose มาใช้ในการอ้างอิงเพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมด้วย อีกทั้ง คณะกรรมการจะต้องกำกับดูแลเพื่อให้มั่นใจได้ว่า Purpose ที่กำหนดมานั้นสามารถแปลงไปสู่แนวทางการปฏิบัติที่ทุกคนในองค์กรสามารถยึดเป็นหลักและทำได้ ตลอดจนควรมั่นใจว่า Purpose นั้นสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารไปถึงลูกค้า และบริษัทคู่ค้าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานของบริษัทด้วย

3.    OWN Purpose นั้นเริ่มมาจากคณะกรรมการ และถูกถ่ายทอดผ่านโครงสร้างองค์กร ระบบและกระบวนการทำงานในขั้นตอนต่างๆ เพื่อจะให้เกิดการปฏิบัติขึ้นจริง ดังนั้น Purpose จึงควรได้รับการยอมรับจากทุกคนในองค์กร ตั้งแต่ระดับกรรมการไปจนถึงพนักงานที่อยู่ในสายการผลิต นอกจากนั้นแล้ว Purpose ควรได้รับการยอมรับจากผู้ถือหุ้นด้วย ซึ่งจะทำให้องค์กรโดยรวมมีความน่าเชื่อถือ

4.    REWARD คณะกรรมการควรมีการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จองค์กรในการทำตาม Purpose ที่กำหนดไว้ โดยสร้างระบบการวัดผลงานในภาพรวมที่เป็นไปในทางเดียวกันกับรูปแบบการให้ผลตอบแทนองค์กรที่เน้นในการส่งเสริมด้านพฤติกรรมที่แสดงออกถึง Purpose ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว ตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินผลงานจะเป็นตัวชี้วัดด้านการเงิน แต่องค์กรควรมีการคำนึงถึงตัวชี้วัดที่ไม่ใช่การเงินที่จะใช้เพื่อวัดผลสำเร็จขององค์กรในด้านที่จะช่วยส่งเสริมให้กับผู้มีส่วนได้เสียด้วย ซึ่งจะสะท้อนการวัดผลสัมฤทธิ์ของ Purpose ได้มากขึ้น

5.    EXEMPLIFY กล่าวคือ การเน้นถึงบทบาทของผู้นำองค์กรในการสื่อสารเรื่องราวเพื่อทำให้ Purpose ขององค์กรมีชีวิตและจับต้องได้ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยบทบาทนี้จะช่วยสร้างให้คนในองค์กรมีเครื่องยึดเหนี่ยวและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มองภาพเดียวกัน โดยมี Purpose ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่กำลังทำสิ่งในที่มีคุณค่าและเติมเต็มในส่วนที่องค์กรกำลังมุ่งไป

Purpose นั้นไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเพียงสโลแกนฉาบฉวยทางการตลาดหรือเป็นกลุ่มคำที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร เมื่อกำหนดมาแล้ว Purpose ต้องถูกใช้เป็นแก่นสำคัญขององค์กร ซึ่งไม่มีเวลาไหนแล้วที่จะเหมาะกับการ กลับมาทบทวน Purpose ขององค์กรเท่ากับในช่วงเวลานี้ หลังจากปี 2020 ที่ผ่านมา บริษัททั่วโลกคงต่างตระหนักดีถึงความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ การที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก การที่ต้องคอยคิดว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรสามารถแข่งขันได้ในตลาดทุนและอยู่ได้อย่างยั่งยืนและสร้างคุณค่าให้กับสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากผ่านวิกฤตนี้ไปได้ ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้นำองค์กรต่างมีมุมมองและมีประสบการณ์ที่จะนำกลับมาใช้ในการพิจารณาทบทวนองค์กรอีกครั้ง จึงถือเป็นบทบาทที่สำคัญของคณะกรรมการในการนำฝ่ายบริหารให้กลับมาทบทวนและกำหนดหลักสำคัญทั้ง 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น Purpose, Vision, Mission และ Value ให้กับองค์กร อีกทั้งวางแนวทางในการนำ Purpose ไปสู่การปฏิบัติ ตลอดจนสามารถปลูกฝังและสื่อสารให้กับคนทั้งในและนอกองค์กรได้รับทราบ และสามารถทำให้เกิดผลจริงได้มากที่สุด

 

Source: https://corpgov.law.harvard.edu/2020/09/02/enacting-purpose-within-the-modern-corporation/ 
https://www.forbes.com/sites/bobeccles/2020/08/20/putting-purpose-into-practice-the-enacting-purpose-initiative/?sh=78c787c0321e
 

 

รวงฝน ใจสมุทร

Curriculum and Facilitators

สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand