Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการเกี่ยวกับการบูรณาการ GRC

บริษัทที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนในโลกยุคใหม่นี้ ต้องเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และการบริหาร เข้าใจและจัดการความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องการให้บริษัทเติบโตและทำธุรกิจอย่างโปร่งใส จึงทำให้เกิดเหตุผลมากมายที่ผลักดันให้บริษัทต้องปฏิบัติงานอย่างบูรณาการ

ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทจึงต้องสามารถกำกับดูแลบริษัทให้สำเร็จลุล่วงตามแผนกลยุทธ์ที่ต้องการ บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทจึงต้องมองในภาพรวมของการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ให้เป็นเรื่องเดียวกัน หรือที่เรียกเป็นคำเดียวกันว่า Governance, Risk and Compliance (GRC)

ด้วยเหตุนี้ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จึงได้จัดทำแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการบริษัทในเรื่อง GRC ขึ้น เพื่อให้คณะกรรมการได้ทราบถึงความสำคัญ องค์ประกอบ บทบาทหน้าที่ และการทำให้บริษัทบูรณาการการกำกับดูแลกิจการ (Governance) การบริหารความเสี่ยง (Risk) และการกำกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance) ได้อย่างสำเร็จผล ซึ่งแนวปฏิบัติฉบับนี้จะนำเสนอเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. หลักการสำคัญ (Key Principles) และ 2. แนวปฏิบัติ (Guidelines)

หลักการสำคัญ (Key Principles) ของแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ประกอบด้วย

1.    คณะกรรมการมีบทบาทและความรับผิดชอบในฐานะผู้นำองค์กรที่สร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน โดยการการกำกับดูแลให้บริษัทมีกลยุทธ์ที่เสริมสร้างการเจริญก้าวหน้า ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม โปร่งใส คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย

2.     คณะกรรมการพึงใช้แนวคิดการบูรณาการ GRC เป็นกรอบในการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้องค์กรดำเนินกิจการตามแนวปฏิบัติสำคัญ 4 ประการ ตามหลักของ The Office of Compliance and Ethics Group (OCEG) ได้แก่

2.1     Learn หมายถึง การเรียนรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงบริบทในการดำเนินธุรกิจ วัฒนธรรมองค์กร และความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย

2.2     Align หมายถึง การนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มากำหนดวัตถุประสงค์ของบริษัท แล้วจึงระบุความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทไม่บรรลุวัตถุประสงค์

2.3     Perform หมายถึง การขับเคลื่อนให้บริษัทไปสู่เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ ด้วยกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามกฎระเบียบ และมีระบบการควบคุมภายในที่ดี

2.4     Monitor หมายถึง มีระบบติดตามดูแลการปฏิบัติงานอย่างเพียงพอ เหมาะสม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

3.     คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้บริษัทมีวิสัยทัศน์และวิธีการปฏิบัติแบบก้าวหน้า ทำให้บริษัทสามารถบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีเหตุผลและมีจริยธรรม ท่ามกลางความไม่แน่นอนต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงของเศรษฐกิจ ตลาด เทคโนโลยี บุคลากร กฎหมาย สิ่งแวดล้อม สังคม เป็นต้น ความไม่แน่นอนเหล่านี้ทำให้บริษัทต้องพิจารณาทั้งความเสี่ยงและโอกาสที่อาจเกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงหรือเพิ่มโอกาสในการบรรลุวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่กำหนดไว้

4.     คณะกรรมการควร “กำกับดูแลกิจการ” และกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจอันเป็นไปเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการพิจารณาปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนผลประโยชน์ของมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน พร้อมสื่อสารกลยุทธ์ นโยบาย และหลักการสำคัญต่างๆ แก่ฝ่ายจัดการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งครอบคลุมทั้ง “การบริหารความเสี่ยง” ที่มีประสิทธิภาพ ยืดหยุ่น และตอบสนองการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และ “การปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบต่างๆ” อย่างครบถ้วน สมบูรณ์

5.     ทั้งนี้ บทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการมิได้แยกเป็นส่วนๆ หากแต่คณะกรรมการต้องดูแลให้บริษัทสามารถเชื่อมโยงและประสานงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการ การบริหารความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบให้ร้อยเรียงเป็น “ภาพเดียวกัน” ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรที่มีจริยธรรม โปร่งใส และซื่อสัตย์ ซึ่งรวมเรียกว่าการบูรณาการ Governance, Risk and Compliance หรือ GRC

6.    ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ให้แนวทางว่าคณะกรรมการอาจแต่งตั้งกรรมการที่มีความรู้ความชำนาญที่เหมาะสม เป็นคณะกรรมการชุดย่อยที่มีหน้าที่เฉพาะในการศึกษาเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นเป็นประจำ หรือเรื่องที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของคณะกรรมการได้ เช่น คณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัทยังคงมีความรับผิดชอบเต็มที่ต่อบทบาทหน้าที่ที่ได้มอบหมายไปยังคณะกรรมการชุดย่อย

7.     คณะกรรมการชุดย่อย เช่นคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ได้รับการแต่งตั้งและมอบหมายงานจากคณะกรรมการบริษัท เพื่อช่วยปฏิบัติหน้าที่กำกับดูแลงานบริหารความเสี่ยงอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายจัดการ และทำให้คณะกรรมการบริษัทได้รับรายงานความเสี่ยงที่มีคุณภาพอย่างทันเวลา

 

ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนของแนวปฏิบัติ (Guidelines) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

 

 

 



Best Practices Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand