Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการเกี่ยวกับการสืบทอดตำแหน่งและการกำกับดูแลการบริหารบุคลากร

ด้วยสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวรองรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทรัพยากรบุคคลถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะสนับสนุนให้การปรับตัวดังกล่าวประสบผลสำเร็จ การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านบุคลากร (Human Capital Risks and Opportunities) จึงเป็นหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นด้านการสืบทอดตำแหน่งของบุคลากรในตำแหน่งสำคัญ และระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือหลักที่จะทำให้องค์กรมีทุนด้านบุคลากรที่จำเป็นและสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายได้

เดิมนั้น การวางแผนการสืบทอดตำแหน่ง (Succession planning) อาจมุ่งไปที่ตำแหน่งของกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารระดับสูง แต่ความสำเร็จขององค์กรมิได้ขึ้นอยู่กับผู้นำหรือผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความชำนาญและความเชี่ยวชาญที่หลากหลายของบุคลากรในแต่ละระดับด้วย ระบบการสืบทอดตำแหน่งในปัจจุบันจึงควรครอบคลุมถึงตำแหน่งที่สำคัญอื่น ๆ ด้วย


         “แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการเกี่ยวกับการสืบทอดตำแหน่งและการกำกับดูแลการบริหารบุคลากร”
 จึงได้ถูกจัดทำขึ้นโดยมุ่งหวังให้คณะกรรมการใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลการวางแผนการสืบทอดตำแหน่งและการบริหารจัดการบุคลากร ซึ่งเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบที่สำคัญของคณะกรรมการ เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนธุรกิจ รวมถึงเป็นความเสี่ยงสำคัญขององค์กร เนื่องจากองค์กรอาจสูญเสียโอกาสทางธุรกิจจากความไม่พร้อมของบุคลากร นอกจากนี้ ยังมุ่งนำเสนอประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเนื่องจากเกี่ยวพันกับสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคลากรและผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทาน อันเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจจัยทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและความเชื่อมั่นของผู้มีส่วนได้เสียด้วย ซึ่งแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้จะนำเสนอเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. หลักการสำคัญ (Key Principles) และ 2. แนวปฏิบัติ (Guidelines)


หลักการสำคัญ (Key Principles) ของแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ประกอบด้วย

1. การวางแผนสืบทอดตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้บริหารในตำแหน่งสำคัญ ตลอดจนกรอบการบริหารบุคลากรถือเป็นหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการที่ต้องกำกับดูแล โดยอาจมอบหมายให้คณะกรรมการชุดย่อยทำหน้าที่พิจารณา กลั่นกรองข้อมูลและเสนอแนวทางให้คณะกรรมการเห็นชอบ

2. คณะกรรมการควรได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอจากฝ่ายจัดการและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายในองค์กรเพื่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

3. คณะกรรมการควรมีการพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนสืบทอดตำแหน่งและการบริหารจัดการบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจมอบหมายให้คณะกรรมการชุดย่อยดำเนินการ และรายงานต่อคณะกรรมการ

4. คณะกรรมการควรกำหนดให้มีระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของกรรมการผู้จัดการใหญ่อย่างโปร่งใส โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงิน

5. คณะกรรมการควรพิจารณาโครงสร้างค่าตอบแทนที่จูงใจให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักขององค์กร ทั้งกลยุทธ์ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว รวมถึงการแข่งขันในด้านต่าง ๆ

6. คณะกรรมการควรกำหนดนโยบายและแนวทางการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยพิจารณาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ให้สอดคล้องกับโครงสร้างธุรกิจ รูปแบบการดำเนินงาน วัฒนธรรมองค์กร และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของบริษัท และสื่อสารผลการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มรับทราบอย่างเปิดเผย

7. คณะกรรมการควรดูแลให้มีแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารและกลุ่มบุคลากรในตำแหน่งสำคัญ (Management and key positions) เพื่อความมั่นคงและความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ

8. คณะกรรมการควรดูแลให้มีการระบบการพัฒนาบุคลากรสำหรับผู้ที่อยู่ในแผนสืบทอดตำแหน่งและพนักงานทั้งองค์กร โดยวางแผนและกำหนดโครงสร้างการพัฒนาที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ตามความต้องการขององค์กร

9. คณะกรรมการควรดูแลให้โครงสร้าง นโยบาย รูปแบบ และวิธีพิจารณาในการจ่ายค่าตอบแทนของบุคลากรเป็นธรรม เหมาะสม และจูงใจ สอดคล้องกับผลการปฏิบัติงานรายบุคคลและผลการดำเนินงานของบริษัทในระยะยาว รวมทั้งมีการสื่อสารให้เป็นที่รับทราบ

10. คณะกรรมการควรวางรากฐานให้การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานขององค์กร โดยยึดหลักปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสากล เพื่อให้มั่นใจว่ากิจการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ไม่ละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย และเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

11. คณะกรรมการควรดูแลให้มีการนำนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และติดตามความคืบหน้า รวมถึงให้มีการเปิดเผยผลการดำเนินงานให้ผู้มีส่วนได้เสียและสาธารณชนรับทราบ

ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนของแนวปฏิบัติ (Guidelines) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

 

 

 



Best Practices Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand