Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
Thought Leadership Report

File Attachment(s)
Reserve for IOD Member Only
Thought Leadership Report
[ 3,907.94 kb. ]

ปี 2563 ถือเป็นปีที่ IOD ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนขององค์กร หรือ Corporate Sustainability โดยถือเป็น Theme ประจำปีที่ทาง IOD ต้องการจะส่งเสริมและสนับสนุนผ่านกิจกรรมและงานต่างๆ ด้วยการตระหนักดีว่าการดำเนินงานด้านความยั่งยืนนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากผู้นำสูงสุดขององค์กรอย่างคณะกรรมการบริษัทไม่ให้ความสำคัญ และด้วยเหตุผลนี้ ในวาระครบรอบ 20 ปี ของ IOD ที่ผ่านมา IOD จึงมีวิสัยทัศน์ใหม่ คือ “Boardroom Excellence for Sustainable Growth” โดยมีความเชื่อว่า กรรมการคือกลุ่มคนสำคัญที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน IOD จึงได้มีการพัฒนางานและจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักและนำเสนอองค์ความรู้ให้กับกรรมการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อนึกถึงคำว่า Sustainability คำถามที่ IOD มักถูกถามจากกรรมการอยู่บ่อยครั้งก็คือ องค์กรขนาดเล็กหรือขนาดกลางจะสามารถทำเรื่องนี้ได้อย่างไร คงจะมีแต่องค์กรขนาดใหญ่เท่านั้นที่ทำได้ เพราะมีทั้งทรัพยากรที่เพียงพอและสามารถรองรับต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนได้ คำถามนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้ IOD ต้องหาแนวทางในการช่วยส่งเสริมให้บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถเข้าถึงเรื่องนี้ได้มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการจัดทำคู่มือกรรมการ หรือ Guideline โดยมีชื่อว่า “Board’s Role in Strategy for Business Sustainability” หรือ “แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” เผยแพร่ในช่วงกลางปี 2563 เพื่อนำเสนอแนวทางให้กับกรรมการของบริษัททุกขนาด สามารถนำไปปรับใช้เพื่อที่จะกำกับดูแลให้องค์กรมีความยั่งยืนได้

นอกเหนือจากแนวปฏิบัติที่ดีแล้ว IOD ยังเห็นประโยชน์ว่าหากบริษัทที่กำลังริเริ่มดำเนินการเรื่องความยั่งยืนได้มีโอกาสเรียนรู้ถึงแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงจากตัวอย่างบริษัทที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำทางด้านความยั่งยืน เพื่อที่จะเรียนรู้ถึงประสบการณ์ และพิจารณานำเอาแบบปฏิบัติไปเป็นแนวทางในการดำเนินการ จึงเป็นที่มาของการทำแนวทางการศึกษา (Thought Leadership Report) เรื่อง “บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการในการกำกับดูแลด้านความยั่งยืน” ผ่านการสัมภาษณ์กรรมการและผู้บริหารที่ดูแลเรื่องความยั่งยืนขององค์กรชั้นนำที่ได้รับรางวัล Sustainability Award ซึ่งจากการศึกษา ทาง IOD ได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจ 4 ด้าน ดังนี้

1. ด้านที่มาและสาเหตุของการให้ความสำคัญกับเรื่อง Sustainability

Regulatory requirement - บริษัทส่วนใหญ่ มักเริ่มต้นให้ความสำคัญในเรื่อง Sustainability จากการปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดเล็กหรือบริษัทครอบครัวที่เพิ่งเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

Market Forces – หลายๆ บริษัทได้รับแรงผลักดันจากการเรียกร้องจากองค์กรต่างชาติ หรือนักลงทุนให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งมักจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือมีนักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุน

Self-Discipline – บางบริษัทเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยตนเอง เป็นเพราะธุรกิจมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ต้องการสร้างภาพลักษณ์และความแตกต่างจากคู่แข่ง และยังพบกรณีของบริษัทลูกที่มีบริษัทแม่ที่ให้ความสำคัญในเรื่อง Sustainability จึงจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตาม

2. ด้านองค์ประกอบและโครงสร้างการกำกับดูแล

การสรรหากรรมการ – บริษัทโดยทั่วไปไม่มีการระบุความยั่งยืนเป็นเกณฑ์ในการสรรหากรรมการ โดยมองว่าหากสรรหากรรมการที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลาย ก็จะช่วยกำกับดูแลให้องค์กรยั่งยืนได้ ในขณะที่บางองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งแวดล้อมและสังคมมักมีการระบุไว้เป็นเกณฑ์ โดยดูจากหน้าที่ความรับผิดชอบหรือลักษณะธุรกิจที่กรรมการเหล่านั้นเคยดำรงตำแหน่ง หรือสรรหาจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง

โครงสร้างการกำกับดูแล – โดยส่วนใหญ่ องค์กรที่มีขนาดเล็กและมีความซับซ้อนทางธุรกิจที่ไม่สูงมาก คณะกรรมการมักจะเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลฝ่ายจัดการโดยตรงในเรื่องการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ในขณะที่องค์กรขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนทางธุรกิจ หรือมีความหลากหลายทางธุรกิจ มักจะมอบหมายให้คณะกรรมการชุดย่อยช่วยทำหน้าที่กำกับดูแล หรืออาจมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อยแยกเป็นการเฉพาะ

3. ด้านการกำกับดูแลร่วมกับฝ่ายจัดการ

การระบุประเด็นความยั่งยืน – คณะกรรมการส่วนใหญ่จะมอบหมายให้ฝ่ายจัดการระบุประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญโดยมองในมุมของผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรร่วมด้วย จากนั้นจึงนำไปสอบถามความเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียเหล่านั้นว่าประเด็นที่ระบุถูกต้องหรือไม่ ต่างจากแนวปฏิบัติที่ดีที่แนะนำให้ไปสอบถามความเห็นกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียก่อน แล้วจึงมาระบุเป็นประเด็นความยั่งยืนขององค์กร
การเข้าถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย – โดยส่วนใหญ่คณะกรรมการจะเข้าถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในรูปแบบที่เป็นทางการ เช่น งานประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี การประชุมกับนักวิเคราะห์ เป็นต้น แต่บางองค์กรคณะกรรมการจะเข้าถึงกลุ่มมีส่วนได้เสียมากขึ้น เช่น การพบปะกับคู่ค้า การพบปะพนักงานตามโรงงานหรือสาขาต่างๆ ผ่านการเวียนประชุมไปในแต่ละที่ ซึ่งมักพบกรณีนี้ในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกิจการอยู่ทั่วประเทศหรือในต่างประเทศ เป็นต้น

4. ด้านการประเมินผลและการรายงานด้านความยั่งยืน

การประเมินผล – การประเมินในระดับกรรมการในเรื่องความยั่งยืนมักจะเป็นการประเมินการทำหน้าที่ในภาพรวม แต่ไม่มีเกณฑ์ด้านความยั่งยืนแยกออกมาเป็นพิเศษ ขณะที่การประเมินในเรื่องนี้มักจะอยู่กับฝ่ายจัดการ โดยเฉพาะ CEO และ CSO หรือ Chief Sustainability Officer (หากมีการจัดตั้ง) และยังมีการกระจายเกณฑ์การประเมินลดหลั่นกันไปให้กับทีมงานที่เกี่ยวข้องด้วย โดยมักพบว่าองค์กรยังคงใช้ Balanced Scorecard มาเป็นเครื่องมือในการประเมิน

การรายงาน – ทุกองค์กรมีการจัดทำรายงานความยั่งยืน โดยส่วนใหญ่จะทำเป็นเล่มแยกหรือที่เรียกว่า Sustainability Report โดยใช้เกณฑ์ของ Global Reporting Initiative (GRI) มาเป็นมาตรฐานในการเปิดเผย โดยหลายองค์กรมีแผนที่จะจัดทำรายงานแบบบูรณาการ (Integrated Report) แต่บางองค์กรยังไม่เห็นประโยชน์ของการทำ โดยมองจากมุมมองของผู้อ่านเป็นสำคัญว่าพร้อมที่จะรับข้อมูลในลักษณะแบบบูรณาการจริงหรือไม่

จากการทำการศึกษาครั้งนี้ ทำให้ IOD ได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการด้านความยั่งยืน และเชื่อว่ารายงานดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่กำลังสนใจหรือกำลังริเริ่มทำเรื่องความยั่งยืน ซึ่งสมาชิกของ IOD สามารถอ่านรายงานฉบับเต็ม กดดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์มุมขวาบน

 



Researches & Surveys Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand