Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนและความไม่แน่นอน ทำให้องค์กรต้องเผชิญกับความท้าทายที่อาจเป็นได้ทั้งความเสี่ยงและโอกาส การปรับตัวในการดำเนินธุรกิจจึงมีความสำคัญ เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนภายใต้สภาวะที่มีการแข่งขันสูง การดำเนินธุรกิจในรูปแบบทุนนิยมที่ให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องการเติบโต และผลการดำเนินงานทางการเงินเพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืนได้ บางกรณีการดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก เพราะมิได้คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตั้งแต่ต้น เช่น ปัญหาน้ำเสีย ฝุ่นพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมการผลิต จนนำไปสู่การคัดค้านจากชุมชน หรือการไม่คำนึงถึงความเพียงพอของทรัพยากรธรรมชาติจนนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนกลับมาสร้างผลในด้านลบต่อองค์กรในเวลาต่อมา ทั้งในรูปแบบของการดำเนินธุรกิจที่มีข้อจำกัดมากขึ้นหรือแม้กระทั่งอาจไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อีกทั้งยังทำให้องค์กรเสื่อมเสียชื่อเสียง อันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าในปัจจุบัน ทำให้สังคมเล็กลง การเผยแพร่ข่าวสามารถทำได้อย่างรวดเร็วในวงกว้าง องค์กรใดที่มีข่าวว่า เป็นต้นเหตุของการทำลายหรือก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม มักจะถูกตั้งคำถามจากสังคม ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจนำไปสู่การไม่ยอมรับและต่อต้านการใช้บริการหรือสินค้าขององค์กร และอาจส่งผลร้ายแรงต่อภาพลักษณ์องค์กรในระยะยาว


การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ที่เรียกร้องให้การดำเนินธุรกิจต้องเติบโตอย่างยั่งยืน โดยความยั่งยืนดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ หากทุกกระบวนการในการดำเนินธุรกิจตามปกตินั้นได้คำนึงถึงการเติบโตของผลประกอบการไปพร้อม ๆ กับความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ การคำนึงถึงผลกระทบทางบวกและทางลบต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ภายใต้การมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยการกำหนดกลยุทธ์ถือเป็นหนึ่งในกระบวนการของการดำเนินธุรกิจที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เป็นไปตามทิศทางที่กำหนด ซึ่งคณะกรรมการในฐานะผู้นำขององค์กรถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการชี้แนะเพื่อให้กลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กรเป็นไปเพื่อความยั่งยืน


สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จึงได้จัดทำ “แนวปฏิบัติที่ดีสำหรับคณะกรรมการในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” ขึ้นโดยสอดคล้องกับสาระสำคัญตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 (CG Code) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งแนวปฏิบัติฉบับนี้ จะนำเสนอเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. หลักการสำคัญ (Key Principles) และ 2. แนวปฏิบัติ (Guidelines)


หลักการสำคัญ (Key Principles) ของแนวปฏิบัติที่ดีฉบับนี้ ประกอบด้วย


1. คณะกรรมการควรพิจารณาและกำหนดให้วิสัยทัศน์และเป้าหมายหลักขององค์กรเป็นไปเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจ ซึ่งควรคำนึงถึงการเติบโตของผลประกอบการไปพร้อม ๆ กับความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ การคำนึงถึงผลกระทบทางบวกและทางลบต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ภายใต้การมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยกำหนดร่วมกันกับฝ่ายจัดการ และจัดให้มีการสื่อสารให้กับผู้มีส่วนได้เสียทั้งภายในและภายนอกองค์กร


2. คณะกรรมการควรสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรทั้งในด้านการดำเนินงานและด้านจริยธรรม เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กรให้ไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยควรปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี


3. คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้มีการบูรณาการนำปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนทั้งที่เป็นโอกาสและความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับบริบทธุรกิจของบริษัทเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้บริษัทสามารถตอบสนองต่อโอกาสและสามารถจัดการกับปัญหาและความท้าทายทางด้านความยั่งยืนที่อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มได้อย่างรอบด้าน


4. คณะกรรมการและฝ่ายจัดการจะต้องร่วมกันกำหนดเป้าหมายของกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และร่วมกันกำหนดกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแต่ละระดับที่เหมาะสม โดยพิจารณาถึงทรัพยากร นวัตกรรม เทคโนโลยีและปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนกลยุทธ์อื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผลการดำเนินงานจะเป็นไปตามเป้าหมาย


5. คณะกรรมการควรพิจารณาจัดโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการที่สามารถทำหน้าที่กำกับดูแลกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้ ทั้งนี้อาจพิจารณามอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับคณะกรรมการชุดย่อยทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานตามกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน


6. คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้มีการพัฒนาความรู้และความเชี่ยวชาญของกรรมการผ่านรูปแบบต่าง ๆ โดยควรมุ่งเน้นไปที่ประเด็นด้านความยั่งยืนที่สัมพันธ์กับการดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่ากรรมการมีความรู้ความเข้าใจถึงความยั่งยืนของธุรกิจองค์กร


7. คณะกรรมการควรจัดให้มีการประเมินความเข้าใจและประสิทธิภาพในการกำกับดูแลกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนขององค์กรในการประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการประจำปีทั้งในส่วนการประเมินทั้งคณะและการประเมินรายบุคคล เพื่อนำผลที่ได้มาพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกรรมการ


8. คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้มีการจัดโครงสร้างองค์กรที่เอื้อต่อการดำเนินงานตามกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน


9. คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้องค์กรมีกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการสื่อสารและการรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้สามารถเข้าใจความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม รวมทั้งควรกำกับดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียต่อสาธารณชนผ่านช่องทางต่าง ๆ


10. คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่ได้จากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำมาวางแผนตอบสนองต่อประเด็นเหล่านั้น ทั้งการจัดการความเสี่ยง ปรับปรุงแก้ไข และใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมสินค้าและบริการ


11. คณะกรรมการควรพิจารณาให้มีการจัดทำและทบทวนนโยบายที่สนับสนุนการดำเนินงานตามกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม/เศรษฐกิจ สังคม และการกำกับดูแลกิจการเพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงและเป็นแนวทางให้บุคลากรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ รวมทั้งกำกับดูแลให้บริษัทมีการกำหนดกระบวนการเพื่อนำนโยบายและแนวปฏิบัติไปใช้อย่างครบถ้วน


12. คณะกรรมการควรติดตามให้ฝ่ายจัดการจัดสรรทรัพยากรประเภทต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับลำดับความสำคัญทั้งในระยะสั้น และเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบและการพัฒนาทรัพยากร ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ ซึ่งทรัพยากรที่บริษัทควรคำนึงถึงมีอย่างน้อย 6 ประเภท ได้แก่ การเงิน (Financial capital) การผลิต (Manufactured capital) ภูมิปัญญา (Intellectual capital) ด้านบุคลากร (Human capital) สังคมและความสัมพันธ์ (Social and relationship capital) และธรรมชาติ (Natural capital)


13. คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จที่เหมาะสมกับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและบริบทแวดล้อมขององค์กร รวมทั้งกำหนดกรอบระยะเวลาในการติดตามอย่างเหมาะสม


14. คณะกรรมการควรกำหนดรอบระยะเวลาในการติดตามผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดและมีการประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้า ซักถามข้อมูล ให้ทิศทางและข้อแนะนำแก่ฝ่ายจัดการเพื่อนำไปปรับปรุงแนวทางการดำเนินงาน


15. คณะกรรมการควรกำกับดูแลให้องค์กรนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานตามกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มรับทราบอย่างทั่วถึงและเหมาะสมกับบริบทขององค์กร


ทั้งนี้ สาระสำคัญในส่วนของแนวปฏิบัติ (Guidelines) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

 

 



Researches & Surveys Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand