Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
ค่าตอบแทนกรรมการ : แนวปฏิบัติและการเปิดเผย

 ค่าตอบแทนกรรมการ : แนวปฏิบัติและการเปิดเผย

การพิจารณาอนุมัติค่าตอบแทนกรรมการเป็นหนึ่งในวาระเพื่อพิจารณาในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีทุกปี ซึ่งในระยะหลังจะเห็นว่าผู้ถือหุ้นและนักลงทุนสถาบันต่างให้ความสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น โดยมีการตั้งคำถามถึงที่มาของการกำหนดนโยบาย ประเภทและตัวเลขของค่าตอบแทนกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการโดยเฉพาะคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนควรจะสามารถนำเสนอถึงแนวนโยบาย เหตุผลและตอบข้อซักถามของผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการเสนอค่าตอบแทนดังกล่าวได้ IOD จึงอยากให้ผู้อ่านลองมาศึกษาถึงแนวปฏิบัติที่ดี รูปแบบการจ่ายค่าตอบแทน รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลค่าตอบแทนกรรมการว่าเป็นอย่างไรกัน

แนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับค่าตอบแทนกรรมการ

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 (CG Code) ได้กล่าวถึงแนวปฏิบัติในการเสนอค่าตอบแทนกรรมการให้ผู้ถือหุ้นอนุมัติ โดยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. ค่าตอบแทนกรรมการควรสอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายระยะยาวของบริษัท ประสบการณ์ ภาระหน้าที่ ขอบเขตของบทบาทและความรับผิดชอบ (accountability and responsibility) รวมถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากกรรมการแต่ละคน

2. ผู้ถือหุ้นต้องเป็นผู้อนุมัติโครงสร้างและอัตราค่าตอบแทนกรรมการ ทั้งรูปแบบที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงิน โดยคณะกรรมการควรพิจารณาค่าตอบแทนแต่ละรูปแบบให้มีความเหมาะสม ทั้งค่าตอบแทนในอัตราคงที่ (เช่น ค่าตอบแทนประจำ เบี้ยประชุม) และค่าตอบแทนตามผลดำเนินงานของบริษัท (เช่น โบนัส บำเหน็จ) โดยควรเชื่อมโยงกับมูลค่าที่บริษัทสร้างให้กับผู้ถือหุ้น แต่ไม่ควรอยู่ในระดับที่สูงเกินไป จนทำให้เกิดการมุ่งเน้นแต่ผลประกอบการระยะสั้น

3. คณะกรรมการควรเปิดเผยนโยบายและหลักเกณฑ์การกำหนดค่าตอบแทนกรรมการที่สะท้อนถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละคน รวมทั้งรูปแบบและจำนวนของค่าตอบแทนด้วย

หากพิจารณาถึงการปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนไทยเกี่ยวกับการเสนอวาระค่าตอบแทนกรรมการให้ผู้ถือหุ้นพิจารณา จากรายงานผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (CGR) ปี 2562 ซึ่งสำรวจบริษัทจดทะเบียนไทยจำนวน 677 บริษัท พบว่า บริษัทจดทะเบียนไทยมีการนำเสนอทั้งนโยบายและวิธีการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการของคณะกรรมการและคณะกรรมการชุดย่อยอย่างละเอียด คิดเป็น ร้อยละ 90 และ บริษัทจดทะเบียนไทยมีการนำเสนอค่าตอบแทนกรรมการทุกรูปแบบ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ คิดเป็น ร้อยละ 58 ทั้งนี้บริษัทจดทะเบียนไทยมีแนวโน้มในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ได้ดีขึ้นทุกปี

 
รูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการ

รูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน เช่น ค่าตอบแทนประจำ เบี้ยประชุม และโบนัส/บำเหน็จ 2) ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น หุ้นบริษัท ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้น สิทธิประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการนั้น ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และนโยบายค่าตอบแทนกรรมการของแต่ละบริษัท

หากพิจารณารูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการของบริษัทจดทะเบียนไทย จากรายงานผลการสำรวจค่าตอบแทนกรรมการ ปี 2561 (IOD) ที่เก็บรวบรวมข้อมูลจาก 264 บริษัทจดทะเบียนไทย ตามแผนภาพ พบว่า บริษัทจดทะเบียนไทยส่วนใหญ่มีการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการในรูปแบบที่เป็นตัวเงินมากที่สุด ได้แก่ เบี้ยประชุม คิดเป็น ร้อยละ 83 รองลงมาคือ ค่าตอบแทนประจำ คิดเป็น ร้อยละ 72 ในขณะที่ค่าตอบแทนในรูปแบบที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้น (Warrant) มีการจ่ายให้แก่กรรมการ เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ขณะที่หากพิจารณาข้อมูลการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการของบริษัทใน S&P จำนวน 1,400 บริษัท จาก Director Compensation Report 2018-2019 ของ National Association of Corporate Directors (NACD) พบว่า มีสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนในรูปแบบที่เป็นตัวเงิน (Cash) คิดเป็นร้อยละ 44 และ ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นตัวเงิน (Equity) คิดเป็น ร้อยละ 56



อย่างไรก็ตาม International Corporate Governance Network (ICGN) แนะนำให้จ่ายค่าตอบแทนกรรมการในรูปแบบของค่าตอบแทนประจำมากกว่าการจ่ายเบี้ยประชุม เนื่องจากค่าตอบแทนประจำ จะสะท้อนให้เห็นถึงคุณสมบัติ ทักษะ ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถของกรรมการ รวมถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการที่ไม่ได้เป็นเพียงการเข้าประชุมคณะกรรมการเท่านั้น ทั้งนี้บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ มีแนวโน้มในการจ่ายเบี้ยประชุมลดลง โดยจ่ายค่าตอบแทนประจำเพิ่มขึ้น ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กยังคงมีการจ่ายเบี้ยประชุมอยู่ค่อนข้างมาก


การเปิดเผยข้อมูลค่าตอบแทนกรรมการในประเทศต่างๆ

หากพิจารณาการเปิดเผยนโยบายค่าตอบแทนกรรมการของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตามแผนภาพ แสดงให้เห็นว่า ประเทศส่วนใหญ่มีการออกกฎหมายบังคับให้เปิดเผยถึงนโยบายค่าตอบแทนกรรมการ และจำนวนค่าตอบแทนทั้งจำนวนรวมและค่าตอบแทนกรรมการรายบุคคล เช่นเดียวกับประเทศไทยที่กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยนโยบายค่าตอบแทนกรรมการและค่าตอบแทนกรรมการเป็นรายบุคคลไว้ในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1)

ด้วยเหตุที่การพิจารณาค่าตอบแทนกรรมการเป็นเรื่องสำคัญที่กรรมการไม่ควรมองข้าม IOD จึงได้จัดทำรายงานผลสำรวจค่าตอบแทนกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทยเป็นประจำทุก 2 ปี ปัจจุบันรายงานนี้ได้รับการยอมรับจากบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในการนำผลไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับคณะกรรมการในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนเพื่อเสนอต่อผู้ถือหุ้น เนื่องจากมีการนำเสนอข้อมูลทั้งค่าตอบแทนกรรมการทั้งในส่วนของรูปแบบ และจำนวนเงิน ซึ่งได้เทียบเคียงกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน และกลุ่มบริษัทที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน

สำหรับรายงานผลสำรวจค่าตอบแทนกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทยประจำปี 2563 กำลังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมโครงการ IOD จึงขอเชิญชวนท่านกรรมการมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาค่าตอบแทนกรรมการบริษัทไทยด้วยการสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการนี้ โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดของโครงการและการเข้าร่วมได้ที่ http://www.thai-iod.com/th/publications-detail.asp?id=560&type=2

 

ข้อมูลอ้างอิง
1. รายงานผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (CGR) ปี 2562 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
2. รายงานผลสำรวจค่าตอบแทนกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทย ปี 2561 สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
3. หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 (CG Code) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
4. International Corporate Governance Network, 2016. ICGN Guidance on Non-executive Director Remuneration.
5. National Association of Corporate Directors, 2019. Director Compensation Report 2018-2019.
6. Organisation for Economic Co-operation and Development, 2019. OECD Corporate Governance Factbook 2019.

 

ศิริพร วงศ์เขียว
นักวิเคราะห์ CG อาวุโส
สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)

 

 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand