Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) : หลักการและความเสี่ยงที่กรรมการควรรู้

 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) : หลักการและความเสี่ยงที่กรรมการควรรู้

ปัจจุบันโลกกำลังประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงและมีความถี่ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในโลก สภาพภูมิอากาศที่กล่าวถึงนี้ เป็นการกล่าวถึง อุณหภูมิเฉลี่ย ความชื้น และปริมาณฝนหรือหิมะที่ตกตามแต่ละฤดูกาลในระดับภูมิภาค ในช่วงเวลาที่ยาวนานเป็นปีหรือหลายทศวรรษ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเฉลี่ย ความชื้น และปริมาณฝนโดยทั่วไปในพื้นที่หรือภูมิภาคหนึ่ง ๆ ซึ่งสภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด หลายครั้งที่สภาพภูมิอากาศของโลกร้อนขึ้นกว่าที่เคยเป็น และหลายครั้งที่เย็นลง อย่างไรก็ตามช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี ค.ศ. 1880 เป็นต้นมา สภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ ดังจะเห็นได้จากแผนภาพด้านล่าง

 

 

จากสถิติการรายงานสภาพภูมิอากาศในเดือนมกราคม 24563 พบว่าพื้นผิวโลกและพื้นผิวมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบ 141 ปี โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 1.14 ° C (2.05 ° F) สูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 อยู่ 0.02 ° C (0.04 ° F) แม้ว่าจะดูเหมือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นนี้กลับส่งผลอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย มีทั้งปัจจัยจากธรรมชาติ อันได้แก่ พลังงานจากดวงอาทิตย์ วงโคจรของโลก เป็นต้น และปัจจัยจากมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลัก โดยกิจกรรมสำคัญที่มีผลทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คือ กิจกรรมที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า และการทำปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม เป็นเหตุให้ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น ที่เรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global warming)

นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา การดำเนินกิจกรรมขององค์กรหรือธุรกิจมีการใช้พลังงานและวัตถุดิบ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากในการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้มักจะก่อให้เกิดมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำหรือทางอากาศ รวมถึงของเหลือจากการผลิตที่จะกลายเป็นขยะที่ต้องกำจัดต่อไป ในปี 2017 รายงานจาก Carbon Majors บ่งชี้ว่า 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกที่ผลิตตั้งแต่ปี 1988 มาจากเพียง 100 ธุรกิจ จึงเป็นความรับผิดชอบขององค์กรที่ต้องดูแลเอาใจใส่ต่อการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงเป็นปัญหาที่คณะกรรมการจะต้องใส่ใจ แต่ยังเป็นความกังวลของตลาดอีกด้วย ซึ่งมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่กรรมการควรพิจารณา ดังต่อไปนี้

·   ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง บริษัทที่มีกิจกรรมที่ใช้คาร์บอนมากจะเสี่ยงต่อการถูกเพิกถอนใบอนุญาตและการโจมตีของคนในสังคม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง

·      ความเสี่ยงต่อทรัพย์สิน บริษัท​ที่มีโมเดลธุรกิจ​ที่ต้องพึ่งพา​หรือขึ้นกับกิจกรรม​ที่ใช้คาร์บอน​ อาจนำไปสู่ความเสี่ยง​ที่จะทำให้สูญเสียทรัพย์สินอย่างไม่คาดคิด เนื่องจาก​ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง​กับสิ่งแวดล้อม

·      ความเสี่ยงทางกายภาพ  ได้แก่ น้ำท่วม พายุและไฟป่า เป็นตัวอย่างของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศหลักที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว เป็นต้น

·      ความเสี่ยงในการฟ้องร้อง  มีความเป็นไปได้ที่บริษัทอาจถูกฟ้องร้อง หากการดำเนินกิจกรรมของบริษัทกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่เห็นได้ชัด และอาจต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ตัวอย่างของโฟล์คสวาเกนที่ถูกตัดสินคดีโดยต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกค้าชาวออสเตรเลียจำนวน 127 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จากข้อกล่าวหาว่า โฟล์คสวาเกนมีส่วนร่วมในการดำเนินการที่ทำให้เข้าใจผิดหรือหลอกลวง เนื่องจากการติดตั้งซอฟต์แวร์รถยนต์ที่อ้างว่าช่วยให้ปล่อยมลพิษน้อยลง

·      ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ อาจมีการออกกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบมากขึ้นหรือเป็นภาระทางเศรษฐกิจต่อบริษัท

จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายให้กับบริษัทอย่างมาก จึงเป็นประเด็นที่คณะกรรมการควรให้ความสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้คณะกรรมการมีแนวทางในการกำกับดูแลในเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ World Economic Forum (WEF) ร่วมกับ PricewaterhouseCoopers (PWC)  ได้แนะนำหลักการ 8 ประการดังนี้

หลักการที่ 1 ความรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศของคณะกรรมการ คณะกรรมการควรรับผิดชอบในการสร้างความมั่นใจว่าบริษัทมีแผนรองรับในระยะยาวต่อความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ

หลักการที่ 2 การตัดสินใจที่ถูกต้อง คณะกรรมการควรได้รับการข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศอย่างครบถ้วนและเหมาะสมเพื่อให้สามารถตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้

หลักการที่ 3 โครงสร้างคณะกรรมการ คณะกรรมการควรจัดโครงสร้างคณะกรรมการที่เหมาะสมและแต่งตั้งกรรมการที่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการความเสี่ยงและโอกาสด้านสภาพอากาศ

หลักการที่ 4 การประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่เป็นรูปธรรม คณะกรรมการควรให้ความมั่นใจว่าฝ่ายบริหารสามารถระบุความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว รวมถึงประเมินและดำเนินการที่เหมาะสมตามความเสี่ยงที่เป็นสาระสำคัญ

หลักการที่ 5 การบูรณาการเชิงกลยุทธ์ คณะกรรมการควรทำให้ความมั่นใจว่า ความเสี่ยงและโอกาส ของปัจจัยการจัดการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศอยู่ในแผนกลยุทธ์ของบริษัท กระบวนการบริหารความเสี่ยงและการตัดสินใจลงทุน

หลักการที่ 6 การสร้างแรงจูงใจ คณะกรรมการควรกำหนดสิ่งจูงใจสำหรับผู้บริหารให้สอดคล้องกับความสำเร็จในระยะยาวของธุรกิจ ซึ่งอาจรวมถึงเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ

หลักการที่ 7 การรายงานและการเปิดเผย คณะกรรมการควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า บริษัทเปิดเผยความเสี่ยง โอกาสและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนและผู้กำกับดูแล การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ควรรวมอยู่ในการรายงานทางการเงิน

หลักการที่ 8 การแลกเปลี่ยน คณะกรรมการควรรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในปัจจุบันเกี่ยวกับการกำกับดูแลสภาพภูมิอากาศโดยการหารือกับบริษัทอื่น ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ

การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยดูแลในส่วนที่เป็นความรับผิดชอบของตนอย่างดีที่สุด ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนนั้น คณะกรรมการถือเป็นผู้ที่บทบาทสำคัญในการนำประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและกำกับดูแลให้ถ่ายทอดในกระบวนการปฏิบัติงานทั่วทั้งองค์กร ซึ่งจะช่วยให้บรรเทาผลกระทบระยะสั้นและแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้อย่างแท้จริง

 

 

 

 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand