Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
ความหลากหลายทางเพศในคณะกรรมการ (Gender Diversity in the Boardroom)

ความหลากหลายทางเพศในคณะกรรมการ (Gender Diversity in the Boardroom)

ความหลากหลายของคณะกรรมการเป็นประเด็นหนึ่งในการกำกับดูแลกิจการที่ทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญ โดยเฉพาะความหลากหลายทางเพศ หากมองย้อนไปในอดีต จะเห็นว่าจำนวนกรรมการเพศหญิงในคณะกรรมการมีค่อนข้างน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย จึงทำให้หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญและมีการออกกฎหมายกำหนดโควต้าของจำนวนกรรมการเพศหญิงในคณะกรรมการขึ้นมา รวมถึงการได้รับแรงกดดันจากกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการให้มีกรรมการเพศหญิงในคณะกรรมการมากขึ้น โดยเห็นว่า การมีกรรมการเพศหญิงจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการตัดสินใจมากขึ้น IOD อยากให้ผู้อ่านลองมาดูสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงและการกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ทั้งในระดับสากลและของไทยกันว่า เป็นอย่างไรกัน

สัดส่วนของกรรมการเพศหญิงในระดับสากล

        จากรายงานของ Harvard Business Review (2019) ซึ่งได้ทำการศึกษาเรื่องความหลากหลายทางเพศต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัท พบว่า นักวิจัยส่วนใหญ่เห็นว่า ความหลากหลายทางเพศทำให้เกิดการคิดที่เป็นนวัตกรรม (Innovative thinking) มากขึ้น เช่น งานวิจัยของ Professor Zhang หนึ่งในทีมของ Harvard Business Review ซึ่งได้ทำการวิจัยใน 35 ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า ความหลากหลายทางเพศมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท เช่น ในทวีปยุโรปที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ พบว่า ความหลากหลายทางเพศมีความสัมพันธ์กับมูลค่าตลาดของบริษัทที่สูงขึ้น ในขณะที่ประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องเพศมากนัก พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกรรมการเพศหญิงกับผลการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า การให้ความสำคัญในเรื่องความหลากหลายทางเพศในแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละประเทศทั่วโลกยังมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ ดังจะแสดงให้เห็น ตามแผนภาพที่ 1 และ 2   

 

หากพิจารณาสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงโดยพิจารณาตามเขตภูมิภาคทั่วโลกในปี 2561 ตามแผนภาพที่ 1 แสดงให้เห็นว่า ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่มีสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงสูงที่สุด เนื่องจากหลายประเทศในทวีปยุโรปที่สนับสนุนให้มีการกำหนดโควต้าของกรรมการเพศหญิงขึ้น เช่น นอร์เวย์ เป็นประเทศแรกที่มีการกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องมีกรรมการเพศหญิงเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกรรมการทั้งหมด ซึ่งเริ่มในปี 2551 และหลังจากนั้นประเทศอื่น ๆ ก็ได้มีการกำหนดโควต้าของกรรมการเพศหญิงขึ้นเช่นกัน เช่น อิตาลี เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นต้น ในขณะที่ประเทศในตะวันออกกลาง มีสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงน้อยที่สุด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.9 เท่านั้น เนื่องจากประเทศในตะวันออกกลางส่วนใหญ่ยังไม่มีการกำหนดโควต้าในเรื่องกรรมการเพศหญิง หรือแม้แต่สัดส่วนของแรงงานในประเทศเหล่านั้น ก็ยังมีผู้หญิงในสัดส่วนที่ไม่มากนัก  

หากพิจารณาประเทศที่มีสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงมากที่สุดและน้อยที่สุดในปี 2561 ตามแผนภาพที่ 2 แสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงมากที่สุด คือ นอร์เวย์ โดยคิดเป็นร้อยละ 41 ของกรรมการทั้งหมด และประเทศที่มีสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงน้อยที่สุด คือ กาตาร์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.6 ของกรรมการทั้งหมด   

สัดส่วนของกรรมการเพศหญิงในไทย

จากการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการ CGR ประจำปี 2562 ของ IOD ซึ่งได้ทำการสำรวจบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 677 บริษัท พบว่า มีสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงของบริษัทจดทะเบียนไทย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เท่ากับในปี 2561

หากพิจารณาเฉพาะคณะกรรมการที่มีสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงตั้งแต่ 50 % ขึ้นไป พบว่า มี    ร้อยละ 4 แต่หากพิจารณาในส่วนของคณะกรรมการที่มีสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงสูงสุด คือ มีสัดส่วนเท่ากับ 62.5 % นั้น พบว่า มีร้อยละ 0.6 โดยเป็นคณะกรรมการที่อยู่ทั้งในกลุ่มบริการ สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้สำหรับคณะกรรมการที่ไม่มีกรรมการเพศหญิงเลย หรือมีสัดส่วนเท่ากับ 0 % พบว่า มีร้อยละ 14 ซึ่งกระจายอยู่ในทุกกลุ่มธุรกิจ

หากพิจารณาตามกลุ่มธุรกิจ บริษัทในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มีสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงโดยเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ร้อยละ 27.4 ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มีสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงโดยเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ร้อยละ 17 ทั้งนี้ทุกกลุ่มธุรกิจมีช่วงห่างของสัดส่วนการมีกรรมการเพศหญิงในคณะกรรมการที่กว้างเหมือนกัน คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 50% ขึ้นไป 

กฎเกณฑ์เกี่ยวกับกรรมการเพศหญิงทั้งในสากลและไทย  

หากพิจารณาข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลของกรรมการเพศหญิงและการกำหนดโควต้าจำนวนกรรมการเพศหญิง ตามแผนภาพที่ 4 แสดงให้เห็นว่า ในหลายประเทศมีการกำหนดเป็นข้อบังคับตามกฎหมายให้มีการเปิดเผยข้อมูลของกรรมการเพศหญิง ในขณะที่บางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ มีเพียงข้อแนะนำให้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่ดีเท่านั้น

ในส่วนของการกำหนดโควต้าของกรรมการเพศหญิง ประเทศที่มีการกำหนดเป็นข้อบังคับส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงสูง ตามสถิติข้อมูลในแผนภาพที่ 1 และ 2 ทั้งนี้สำหรับประเทศที่ยังไม่ได้มีการกำหนดเป็นโควต้า แต่มีการตั้งเป็นเป้าหมายให้บริษัทจดทะเบียนนำไปปฏิบัติตาม เช่น มาเลเซีย มีการตั้งเป้าหมายให้มีกรรมการเพศหญิงที่ร้อยละ 30 ของกรรมการทั้งหมด เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยมีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องความหลากหลายของคณะกรรมการในด้านทักษะ ประสบการณ์ เพศ และอายุ เป็นต้น โดยไม่ได้พิจารณาเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม โครงการ CGR มีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาในเรื่องความหลากหลายทางเพศไว้โดยพิจารณาว่า ในคณะกรรมการของบริษัทจดทะเบียนมีกรรมการอิสระที่เป็นผู้หญิงอย่างน้อย 1 คนหรือไม่ ซึ่งจากผลประเมิน CGR ในปี 2562 พบว่า มีร้อยละ 54 ของบริษัทจดทะเบียนที่ทำการประเมินทั้งหมด (677 บริษัท) สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์นี้

แม้ว่าจะยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของจำนวนกรรมการเพศหญิงกับประสิทธิภาพในการทำงานของคณะกรรมการ แต่แนวโน้มเรื่องความหลากหลายทางเพศก็ยังเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสำคัญ รวมถึงการที่หลายประเทศได้มีการกำหนดโควต้าของจำนวนกรรมการเพศหญิง หรือกำหนดเป็นแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของบริษัท ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของสัดส่วนของกรรมการเพศหญิงทั้งในไทยและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การที่จะมีคณะกรรมการที่มีประสิทธิภาพนั้น ควรมีโครงสร้างของคณะกรรมการที่มีความหลากหลายทั้งในด้านทักษะ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ เพศ เชื้อชาติ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว  

 

ข้อมูลอ้างอิง

·       Deloitte, 2019. Data-driven change women in the boardroom a global perspective sixth edition.

·       EY, 2019. How to get more women in the boardroom.

·       Harvard Business Review, 2019. Research: When Gender Diversity Makes Firms More Productive.

·       Organisation for Economic Co-operation and Development, 2019. OECD Corporate Governance Factbook 2019. 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



Articles Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand