Testimonials FAQ Photo Gallery Contact Us Mail to Friend
Home Director Training Seminars & events News Join IOD IOD Members Projects Publications IOD Shop About IOD
12/ก.ค./2565
CAC ผนึกพลังสามัคคี สู่จุดเปลี่ยนคอร์รัปชัน

 CAC ผนึกพลังสามัคคี สู่จุดเปลี่ยนคอร์รัปชัน

  

12 กรกฎาคม 2565แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) แสดงพลังภาคเอกชนเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจโปร่งใส พร้อมเสวนากับ 3 หน่วยงานภาครัฐ ร่วมสร้างจุดเปลี่ยนคอร์รัปชันในงาน CAC Certification Ceremony 2022 ภายใต้หัวข้อ จากพลังสามัคคี สู่จุดเปลี่ยนคอร์รัปชัน

CAC จัดงานเพื่อประกาศเกียรติคุณความมุ่งมั่นให้กับ 102 บริษัทที่พัฒนาระบบภายในเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากความเสี่ยงคอร์รัปชันจนสามารถผ่านการรับรองกับ CAC ได้ และเพื่อแสดงถึงพลังของภาคเอกชนที่ร่วมมือกันสร้างเครือข่ายธุรกิจโปร่งใส โดยในช่วงแรกของงาน ศ. (พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) กล่าวว่า “ปัจจุบันคอร์รัปชันยังคงฝังรากลึกและมีกลเม็ดแยบยลมากขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือของภาคเอกชนและภาครัฐจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะพลังสามัคคีของพวกเราทุกคน ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนคอร์รัปชันที่ดีขึ้น”

คุณกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวในระหว่างการบรรยาย หัวข้อ “ต้านทุจริตอย่างยั่งยืน สู่สังคมไร้คอร์รัปชัน” ว่า “ในขณะที่ประเทศไทยมี 25 บริษัทที่ได้รับการจัดอันดับความยั่งยืนจาก DJSI แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้รับการจัดอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index – CPI) ในลำดับที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นความย้อนแย้งและนำไปสู่คำถามว่า บริษัทที่ยั่งยืนจะอยู่ในสังคมหรือเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ได้อย่างไร

การแสดงพลังของภาคเอกชนของโครงการ CAC ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าบริษัทเอกชนมีความมุ่งมั่นและพร้อมขับเคลื่อนจนเกิดแนวคิด Change Agent หรือผู้พร้อมจะเปลี่ยนอนาคตของประเทศ โดย Change Agent จะให้การสนับสนุนการทำงานกับคู่ค้าที่โปร่งใส ซึ่งทำให้มีจำนวนที่แผ่ขยายออกไปให้กว้างขึ้น แข็งแรงขึ้น  ประกอบกับการทำงานของ CAC ที่ใกล้ชิดกับภาครัฐที่นำปัญหาจากภาคเอกชนมาร่วมหารือและหาทางออกร่วมกัน โดยมีความเชื่อว่า สังคมไร้คอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ เมื่อทุกฝ่ายมุ่งมั่นและร่วมมือกัน”

และในช่วงเสวนากับ 3 ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ต่างร่วมแสดงความเห็นในเรื่อง "ปฏิเสธคอร์รัปชัน ถึงวันหยุดจ่ายสินบน” มีคุณช่อผกา วิริยานนท์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยประเด็นเสวนามุ่งเน้นเรื่องช่องทาง วิธีการร้องเรียน และความปลอดภัยจากการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน รวมถึงผลสำรวจจากการสอบถามประชาชนเรื่องการแจ้งร้องเรียนผ่านช่องทางการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผลสำรวจพบว่า 17% ไม่กล้าแจ้ง เนื่องจากไม่มั่นใจในมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส และ 83% ของผลสำรวจตอบว่ากล้าแจ้ง แต่ก็ยังมีความกังวลและไม่มั่นใจในประสิทธิภาพของกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งตัวแทนจากทั้ง 3 องค์กร ต่างให้ความมั่นใจว่าระบบการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนมีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

คุณอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า “ภาครัฐให้ความสนใจในการป้องกัน ป้องปรามการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นมากกว่าการทุจริตที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะการป้องปรามนี้จะช่วยลดความเสียหายได้มากกว่า ดังนั้น ทาง ป.ป.ช. ได้มีการจัดตั้งศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center : CDC) เพื่อเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริตที่สามารถป้องปราม และลดการทุจริต เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่เข้ามาช่วยให้การทำงานในยุคดิจิทัลมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

คุณพุฒิพงษ์ เลิศสถิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ให้ข้อแนะนำในการส่งบัตรสนเท่ห์ให้มีประสิทธิภาพและช่วยเสริมการทำงานให้รวดเร็วขึ้นคือต้องระบุชื่อ ตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกร้องเรียน รวมถึงรายละเอียดข้อร้องเรียนที่ไม่ทำตามกฎเกณฑ์หรือกฏหมาย ความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงพยาน หลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

ทางด้าน พ.ต.อ.สมศักดิ์ เนียมเล็ก ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เสริมว่า เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามมีประสิทธิภาพนั้น เมื่อทาง บก.ปปป. ได้รับแจ้งหรือร้องเรียนจะมีการสืบสวน สอบสวน รวมถึงลงพื้นที่เพื่อหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกระบวนการโดยเร็ว

งาน
CAC Certification Ceremony 2022 “จากพลังสามัคคี สู่จุดเปลี่ยนคอร์รัปชัน” แสดงถึงการรวมพลังจากทั้งภาคเอกชนมีความตื่นตัวมากยิ่งขึ้นในการปฏิเสธการคอร์รัปชัน และพลังจากทางภาครัฐที่สร้างระบบและความเชื่อมั่นที่จะลดการคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ซึ่งการรวมพลังนี้ถือเป็นความร่วมมือร่วมใจ ทำให้เกิดพลังสามัคคี และนำพาให้เกิดจุดเปลี่ยนคอร์รัปชันในสังคมไทยอย่างยั่งยืน

Background

CAC ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 จากความริเริ่มของภาคเอกชนไทย ภายใต้การริเริ่มของคุณชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการ IOD เพื่อให้บริษัทที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำธุรกิจโปร่งใสสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในรูปแบบของแนวร่วม หรือ Collective Action โดยมุ่งสร้างและขยายแนวร่วมในภาคเอกชน เพื่อสร้างกระแสการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการที่จะปฏิเสธการรับและจ่ายสินบน รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ซึ่งจะช่วยสร้างระบบนิเวศของการทําธุรกิจที่โปร่งใส นอกจากนี้ CAC ยังทําหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับภาคธุรกิจเอกชน โดยการประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปรามปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรเพื่อพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเรื่องปัญหาคอร์รัปชันที่ภาคเอกชนประสบ

CAC จัดตั้งขึ้นโดย 8 องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (
JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมี
IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการขับเคลื่อนโครงการ

สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ CAC เพิ่มเติม
แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย
โทรศัพท์ 0-2955-1155 ต่อ 313 หรือ 088-088-5085
อีเมล์ cac@thai-iod.com

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน
คุณสาริณี เรืองคงเกียรติ ผู้ช่วยผู้จัดการ ส่วนงานสมาชิกสัมพันธ์ ฝ่ายการตลาดและสมาชิกสัมพันธ์
โทร. 02 955 1155 ต่อ 402 หรือ 088-227-9114
อีเมล์ sarinee@thai-iod.com





ข่าว Previous Next
 
ข้อกำหนดและเงื่อนไข | นโยบายความเป็นส่วนตัว | ผังเว็บไซต์ | Share to
Copyright © 2010 Thai Institute Of Directors. Site by Redlab
Our
Sponsors
SCBx BBL IVL Kbank BCP CPF GPSC IRPC PTT PTTEP PTTGC PTTOR SCG Singha TISCO TOP
Our
Partners
CAC SET SEC OECD CBNC CG Thailand